นายโจเซฟ ซเวกลิช จูเนียร์ รักษาการหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำ ธนาคารพัฒนาเอเชีย(เอดีบี) เปิดเผยว่า เอดีบี ออกรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ประจำปี 2564 ฉบับล่าสุด(ADO 2021 Update) โดยปรับลดแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียในปี 2564 ท่ามกลางความกังวลอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับปัญหาการระบาดครั้งใหญ่ของเชื้อโควิด-19 สำหรับประเทศไทย การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเดินหน้าไม่ได้เต็มที่ แม้การเติบโตของการส่งออกสินค้าและสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยจะช่วยลดผลกระทบทางลบจากโควิด-19 ต่อการเติบโตได้ แต่การระบาดระลอกใหม่ รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความล่าช้าของแผนวัคซีนของประเทศยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ เอดีบีได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ลงอยู่ที่ 0.8% จากที่เคยคาดการณ์ที่ 3% เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา และปรับลดแนวโน้มเศรษฐกิจของปี 65 ลงจาก 4.5% ไปอยู่ที่ 3.9% ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดว่ายังคงเดิมที่ 1.1% ในปี 2564 และ 1% ในปี 2565 เนื่องจากอุปสงค์รวมยังคงซบเซา ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย เอดีบีคาดว่าจะขยายตัว 7.1% ในปี 2564 ซึ่งเป็นการปรับลดจากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 7.3% ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา สำหรับปี 2565 คาดว่าการเติบโตจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 5.4% จาก 5.3% โดยโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ การแพร่ระบาดภายในประเทศระลอกใหม่ การกลับมาดำเนินมาตรการควบคุมที่หลากหลายและการล็อกดาวน์ในระดับต่างๆ รวมถึงการบริหารจัดการวัคซีนที่ล่าช้าและไม่สม่ำเสมอนั้น กำลังทำให้โอกาสการฟื้นตัวของภูมิภาคนี้ลดน้อยลง “ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ยังคงเสี่ยงต่อการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 เนื่องจากสายพันธุ์ใหม่ก่อให้เกิดการระบาดไปในวงกว้างจนนำไปสู่ข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจในบางประเทศอีกครั้ง มาตรการเชิงนโยบายไม่ควรเน้นที่การกักกันตัวและการฉีดวัคซีนเท่านั้น แต่ควรเน้นการช่วยเหลือบริษัทและครัวเรือนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับทิศทางของภาคเศรษฐกิจให้เข้ากับความปกติใหม่ เมื่อการระบาดใหญ่ลดน้อยลงและการฟื้นตัวเริ่มต้นขึ้น” นอกจากนี้รายงานฉบับล่าสุดระบุว่า ด้วยจำนวนประชากรที่ยากจนในพื้นที่ชนบทของภูมิภาคเอเชียมีถึง 76% ดังนั้นการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและรายได้จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะใช้ในการต่อสู้กับความยากจน และได้เรียกร้องให้รัฐบาลออกนโยบายที่บูรณาการเทคโนโลยี การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และการปฏิรูปกฎระเบียบ เพื่อรับรองความมั่นคงด้านอาหารและการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้ส่งผลให้ประชากรราว 75-80 ล้านคนของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียเข้าสู่ความยากจนขั้นรุนแรง ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางอาหารมากขึ้น ในปีนี้ ความหิวโหยทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นราวหนึ่งในสามตามการประเมินของกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา และจากจำนวนประชากร 291 ล้านคนที่ได้รับความทุกข์ยากจากความไม่มั่นคงด้านอาหารทั่วโลกนั้น 72% อยู่ในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะในบังคลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย และปากีสถาน