วันที่ 22 ก.ย.64 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวเปิดการประชุมประจำปี 64 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ผ่านระบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ “เรื่องมิชชั่น ทู ทรานฟอร์ม 13 หมุดหมาย พลิกโฉมประเทศไทย” ว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 จะประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2566 – 2570 ถือเป็นแผนของการพัฒนาประเทศในระยะ 5 ปีข้างหน้า เป็นการวางแผนเพื่อก้าวไปสู่อนาคต โดยจำเป็นต้องรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในโลกอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะแนวโน้มที่เรียกว่า เมกกะเทรนด์ ทั้ง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย การเปลี่ยนแปลงค่านิยมและรูปแบบการใช้ชีวิต การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน ภาวะโลกร้อนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทั้งนี้ จากเมกกะเทรนด์ ได้ทำให้เกิดโอกาสในการพัฒนารูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีขึ้นมาก่อน ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและพฤติกรรมของคนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม รวมถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เป็นตัวเร่งให้ให้เกิดเมกะเทรนด์ ดังนั้น การกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคต จำเป็นต้องพิจารณาบริบทการเปลี่ยนแปลงภายนอกประเทศ ควบคู่กับการประเมินเงื่อนไขของปัจจัยภายในหรือสภาพแวดล้อม และศักยภาพของประเทศทั้งที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อน เพื่อตัดสินใจเลือกทิศทางและแนวทางที่จะเป็นประโยชน์มากที่สุดสำหรับประเทศในการก้าวต่อไปท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่ผันผวนรวดเร็วของโลก “การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้รุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสภาพจิตใจของคนไทย โดยรัฐบาลไม่นิ่งนอนใจและพยายามควบคุมสถานการณ์ และออกมาตรการมาใช้ และเร่งจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้กับประชาชน เพื่อลดความเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต รัฐบาลขอให้คำมั่นว่าจะพยายามเร่งรัดและจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้กับประชาชนอย่างครอบคลุม ทั่วถึง และรวดเร็ว รวมถึงออกมาตรการทางเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนเพื่อเยียวยา และบรรเทาผลกระทบต่าง ๆ ให้กับประชาชน และจะนำพาประเทศรอดพ้นวิกฤตครั้งนี้โดยเร็ว พร้อมพลิกฟื้นประเทศให้เข้มแข็ง”นายกฯ กล่าว พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงแผนฯฉบับที่ 13 กับการทำงานของรัฐบาลเพื่อพลิกโฉมประเทศว่า มีเป้าหมายที่สำคัญทั้งหมด 5 ประการ ดังนี้ 1.การปรับโครงสร้างการผลิตของประเทศให้เป็นเศรษฐกิจที่อยู่บนฐานนวัตกรรม 2.การพัฒนาคนให้มีความสามารถและมีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมกับโลกยุคใหม่ โดยพัฒนาคนไทยให้มีความพร้อมในการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 3.การสร้างสังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม ที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามขจัดความเหลื่อมล้ำในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ โดยปรับปรุงระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับผู้ถือบัตรอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแจกจ่ายเบี้ยยังชีพต่อเนื่องให้กับผู้มีรายได้น้อย 4.การสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ รัฐบาลมุ่งเน้นให้การพัฒนาประเทศในทุกมิติต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ รวมถึงมีความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 5.การเตรียมความพร้อมให้กับประเทศในการรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทโลกใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐที่ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศและสามารถรองรับการขนส่งและการเดินทางต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ