กรมชลประทาน ยังคงเฝ้าระวังและติดตามการช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัยในหลายพื้นที่อย่างใกล้ชิด ติดตั้งเครื่องจักรเครื่องมือ เร่งระบายน้ำจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ วันที่ 22 ก.ย.64 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกชุกช่วงนี้ ส่งผลให้หลายพื้นที่ประสบอุทกภัย กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถเครน เครื่องจักรกลอื่นๆ รวมถึงรถบรรทุกน้ำ เข้าไปเพิ่มเติมเพื่อเร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ สถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดสุโขทัย มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 2 อำเภอ ประกอบไปด้วย อำเภอทุ่งเสลี่ยม และอำเภอศรีสำโรง ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำแม่มอก ปริมาณน้ำไหลผ่านอาคารระบายน้ำล้นลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระดับน้ำในลำน้ำแม่มอกลดลงตามไปด้วย หากไม่มีฝนตกในพื้นที่ สถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติประมาณวันที่ 24 ก.ย. 64 โครงการชลประทานสุโขทัย ได้นำรถแบ็คโฮ เข้าไปกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมสนับสนุนเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 7 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีก 5 เครื่อง เข้าไปช่วยระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังแล้ว สำหรับที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 2 อำเภอ คือ อำเภอผักไห่ และอำเภอเสนา ปัจจุบันปริมาณน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถานี C.2 จังหวัดนครสวรรค์ มีน้ำไหลผ่าน 1,937 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มเพิ่มขึ้นจากฝนที่ตกในพื้นที่ตอนบน ปริมาณน้ำดังกล่าวไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา รับน้ำเข้าฝั่งตะวันตกและตะวันออกรวม 477 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อน 1,610 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเล็กน้อย กรมชลประทานได้ประสานแจ้งข้อมูลสถานการณ์น้ำให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนข่าวสารสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง ที่จังหวัดเลย มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอด่านซ้าย และอำเภอเมืองเลย ปัจจุบันระดับน้ำในลำน้ำหมันลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำที่ท่วมขังพื้นที่การเกษตรค่อยๆ ไหลลงรวมกันในลำน้ำอย่างช้าๆ คาดว่าภายใน 2-3 วันนี้ จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ หากยังไม่มีฝนตกในพื้นที่ โครงการชลประทานเลย ได้นำเครื่องผลักดันน้ำเข้าไปติดตั้งในลำน้ำหมัน 10 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำไปลงแม่น้ำเหือง ก่อนไหลลงแม่น้ำโขงตามลำดับ นอกจากนี้ ยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 4 เครื่อง สูบน้ำออกจากสระดอกบัว พร้อมกับเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ด้านจังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 3 อำเภอ คือ อำเภอด่านขุนทด อำเภอโนนสูง และอำเภอโชคชัย ปัจจุบันปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) มีปริมาณน้ำเกินความจุอ่างฯ และยังมีแนวโน้มน้ำที่มาจากลำห้วยสามบาท และลำเชียงไกรตอนบน จะไหลลงมาเพิ่มมากขึ้น จึงได้เพิ่มการระบายน้ำด้วยวิธีการต่างๆ อาทิ คลองระบายน้ำชั่วคราว เครื่องสูบน้ำ และ กาลักน้ำ ทำให้อัตราการระบายน้ำในลำเชียงไกร ตอนล่าง ตั้งแต่ด้านท้ายอ่างฯลงไป เมื่อรวมกับน้ำที่มาจากวังกะทะ (ยังไม่มีอาคาร ชลประทานควบคุม) และบึงพุดซา ทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น โครงการชลประทานนครราชสีมา และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง ได้ควบคุมปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่ลำน้ำจะรับได้ แต่มีบางช่วงที่ลำน้ำแคบ ตื้นเขิน รวมทั้งพื้นที่ลุ่มต่ำ อาจจะส่งผลกระทบมีน้ำเอ่อล้นตลิ่งที่ลุ่มต่ำบางแห่ง โครงการชลประทานนครราชสีมา ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในลำเชียงไกร 12 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ