ขณะที่การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับ เด็กอายุ 12-18ปี 7 กลุ่มโรคเสี่ยง ล็อตแรกจำนวน 2,000 คน จากทั้งหมด 5,000 คน รอวัคซีนฉีดครบใน 2 สัปดาห์ เป้าหมายฉีดนักเรียน 70% หรือ 7 แสนใน 1 ล้านคน ให้ได้ก่อนจึงเปิดเรียน เข่นเดียวกับการเปิดเมืองหรือ กรุงเทพแซนด์บอกซ์ ที่จะต้องฉีดวัคซีนให้ประชาชนครบ 2 เข็มให้ได้เกิน 70%ขึ้นไปเสียก่อน วันที่ 21 ก.ย.64 ที่อาคารทีปังกรรัศมีโชติ วชิรพยาบาล พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมการฉีดวัคซีนให้กับเด็กอายุ 12-18 ปี ในกลุ่ม 7 โรคกลุ่มเสี่ยง ณ อาคารทีปังกรรัศมีโชติ ชั้น 6 วชิรพยาบาล เขตดุสิต โดยกล่าวภายหลังว่า กรุงเทพมหานครร่วมกับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช โรงพยาบาลวชิรพยาบาล ดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับเด็กอายุ 12-18 ปี โดยคัดกรองเด็ก 7 โรคกลุ่มเสี่ยงที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ทั้งเด็กนักเรียนของภาครัฐและเอกชน ซึ่งได้ลงทะเบียนทั้งหมด 5,000 กว่าคน เบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุขจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์มาให้ฉีดได้ จำนวน 2,000 คน ดำเนินการฉีดวันที่ 20-21 กันยายน ที่เหลืออีกประมาณ 3,000 คน คาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์ กระทรวงสาธารณสุขจะจัดส่งวัคซีนให้มาฉีดเด็ก 7 กลุ่มโรคนี้ได้ครบ จากนั้นหากได้รับการจัดสรรวัคซีนก็จะทยอยดำเนินการฉีดให้เด็กนักเรียนอายุ 12-18 ปี ทั้งหมดทั่วกรุงเทพมหานครซึ่งมีอยู่ 1 ล้านกว่าคน ทั้งนี้เพื่อความสบายใจของเด็กและผู้ปกครองหากจะมักสรเปิดเรียนในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งรัฐบาลและกรุงเทพมหานครมีความห่วงใยต้องการที่จะฉีดวัคซีนให้เด็กนักเรียนให้ครบทั้งหมดก่อนมีการเปิดเรียน อย่างไรก็ดี หากจะมีการเปิดเรียน ต้องฉีดวัคซีนเด็กนักเรียนครบ 2 เข็มให้ได้ 70% ขึ้นไป คือประมาณ 7 แสนขึ้นไปจากทั้งหมด 1 ล้านกว่าคน จึงจะหารือกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ เสนอ ศบค. พิจารณาให้เปิดเรียนได้ ในส่วนของ กลุ่ม 608 คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ ดำเนินการฉีดไปแล้ว 95% ส่วนประชาชนอายุ 18-59 ปี ฉีดครบ 2 เข็ม ได้เกือบ 40% ซึ่งคาดหวังฉีดให้ประชาชนได้ 70%ขึ้นไป ในกลางเดือนตุลาคมนี้ ถ้ามีวัคซีนมาพร้อม โดยเป้าหมายกรุงเทพมหานครจะฉีดให้ครบทั้ง 100%ในผู้ที่สมัครใจ ซึ่งได้ประสานกระทรวงสาธารณสุขเห็นด้วยและจะพยายามจัดวรรวัคซีนมาให้ สำหรับการเปิดเมือง หรือ กรุงเทพแซนด์บอกซ์ ขณะนี้มีความสุ่มเสี่ยงเกินไป การที่จะเปิดเมืองได้ ต้องฉีดวัคซีนให้ประชาชนครบ 2 เข็มให้ได้เกิน 70%ขึ้นไป และต้องรอดูภูมิคุ้มกันขึ้นหลังฉีดครบอีก 7-14 วัน ตามหลักการของแพทย์ รวมถึงต้องดูอัตราการติดเชื้อและผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลลดลงด้วย จึงจะหารือกระทรวงสาธารณสุข เสนอ ศบค. พิจารณา