ปัจจุบันการปลูกยางพาราอยู่ในพื้นที่ไม่เอกสารสิทธิ์อยู่จำนวนมาก ทำให้เกษตรกรกลุ่มนี้ไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับการส่งเสริมจากการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) เทียบเท่ากับเกษตรกรที่ปลูกยางพาราที่มีเอกสารสิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่น้ำยางที่ได้ ถูกจัดเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษจากการส่งออก หรือเงิน เซส เท่ากัน ดังนั้น คณะกรรมการ กยท.(บอร์ด) จึงปรับ เงื่อนไขการขึ้นทะเบียนใหม่ เพื่อสร้างความเท่าเทียมกับเกษตรกรทั้ง 2 กลุ่ม นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การปลูกยางพาราในพื้นที่ป่านั้น มีอยู่จริง ซึ่ง กยท.อนุโลมให้จดแจ้งเอาไว้ ในกรณีที่ต้องให้ความช่วยเหลือเกษตรกรตามนโยบายภาครัฐ แต่ไม่สามารถส่งเสริมการปลูก หรือชดเชยตามระเบียบของ กยท. เมื่อเทียบกับเกษตรกรปลูกในพื้นที่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เช่น การชดเชยกรณีเกิดประสบภัยทางธรรมชาติ การค้ำประกันเงินกู้ เป็นต้น แต่น้ำยางในพื้นที่ปลูกเขตไม่มีเอกสารสิทธิ์ ดังกล่าวสามารถนำมาจำหน่ายและส่งออกได้อย่างถูกต้อง และถูกจัดเก็บ เซส เช่นเดียวกันน้ำยางในพื้นที่อื่นๆ เพื่อใช้พัฒนาและสนับสนุนอุตสาหกรรมยางพาราในประเทศในอัตราที่เท่ากัน ทั้งหมดทำให้ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหนังสือถึง กยท. ระบุว่าเป็นการละเมิด และให้แก้ไขระเบียบสร้างความเท่าเทียบกัน ดังนั้นการประชุม บอร์ด กยท. ล่าสุดจึงมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบปรับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางใหม่ เน้นดูแลเกษตรกรชาวสวนยางทั้งประเทศอย่างทั่วถึง สร้างความเท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิประโยชน์ ซึ่ง กยท.จะแจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางพารา(กนย.)รับทราบในวันที่ 16 ก.ย. นี้ หลังจากนั้น บอร์ด จะออกประกาศ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง(ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2564 ให้รับทราบโดยทั่วกันในเร็วๆนี้ ซึ่งร่างประกาศดังกล่าว จะระบุเพิ่มเติมเอกสารที่สามารถนำมาประกอบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางได้ เพื่อขยายโอกาสให้เกษตรกรชาวสวนยางมีเอกสารรับรองอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น บัญชีเอกสารหลักฐานที่ดิน 2 ในส่วนของหนังสืออนุญาตการใช้ประโยชน์จากที่ดินรัฐของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น รวมทั้งมีการปรับปรุงแบบเอกสารประกอบการขึ้นทะเบียนต่างๆ ได้แก่ แบบคำขอขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง (คบก.1) แบบคำขอขึ้นทะเบียนคนกรีดยาง (คบก.2) แบบหนังสือรับรองตนเอง (คบก.6) และแบบบันทึกค่าพิกัดแปลงสวนยาง (คบก.7) และแบบคำขอยกเลิกการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง (คบก.8) กรณีเกษตรกรชาวสวนยางมีความประสงค์ขอยกเลิกการขึ้นทะเบียน “ ประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง ฉบับที่ 2 จะทำให้เกษตรกรชาวสวนยาง 456,061 ราย พื้นที่สวนยาง 6,437,373 ไร่ ได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำของสิทธิ์ที่เกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับ” เช่นการสนับสนุน การช่วยเหลือ และการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ หรือสวัสดิการต่างๆ ผ่านกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49(3) (4) (5) และ (6) ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ที่ต้องการดูแลเกษตรกรชาวสวนยางทั้งระบบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยจะไม่แยกบัตรเขียวและบัตรชมพูอีกต่อไป ซึ่งชาวสวนยางสามารถรับฟังประกาศอย่างเป็นทางการและศึกษารายละเอียด เพื่อเตรียมตัวติดต่อสำนักงาน กยท.จังหวัดสาขาใกล้บ้านต่อไป รายงานข่าวจาก กยท. แจ้งว่า ปัจจุบันเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรของ กยท. แยกออกเป็น 2 กลุ่ม รวมมีพื้นที่ 22 ล้านไร่ มี 1.9 ล้านคน แยกเป็นเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ หรือบัตรสีเขียว 1.17 ล้านคน คนกรีดยางพารา 2.6 แสนคน และเกษตรที่ปลูกยางในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ หรือบัตรสีชมพู 4 .5 แสนคน ในส่วนของกลุ่มบัตรสีชมพูนั้นเป็นการแจ้งจด เพื่อทราบและนำมาใช้ในกรณีที่ต้องให้การช่วยเหลือ หรือชดเชยตามนโยบายรัฐ แต่ไม่มีสิทธิ์ได้รับการช่วยเหลือภายใต้พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 เช่นการโค่นยางเพื่อปลูกทดแทน ไร่ละ 16,000 บาท การชดเชยกรณีประสบภัยธรรมชาติ การค้ำประกันเงินกู้โดย กยท. การส่งเสริมปัจจัยการผลิต การอบรม ดูงานที่สถาบัน เป็นต้น แต่หลังจากนี้ เมื่อบอร์ดกยท. ออกประกาศระเบียบหลักเกณฑ์ เงื่อนไขใหม่ กยท.จะต้องทบทวนการขึ้นทะเบียนทั้งหมด โดยเกษตรกรต้องนำเอกสารที่เกี่ยวข้องมายืนยัน และสามารถรับสิทธิ์ผลประโยชน์ได้เท่าเทียบกันทั้งหมด โดยไม่มีการแบ่งแยกกลุ่มใดๆ อีกต่อไป อย่างไรก็ตามการขึ้นทะเบียนกลุ่มปลูกยางในพื้นที่ป่าดังกล่าว ไม่มีเจตนาจะส่งเสริมการปลูกยางในเขตป่า แต่การปลูกหรือโค่นยางในเขตป่า ของเกษตรกรต้องเป็นไปตามระเบียบของกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะไม่เกี่ยวข้องกับ กยท. ที่ต้องการสร้างความเสมอภาคกับเกษตรกรทุกคนให้เข้าถึงสิทธิ์ที่ควรได้รับอย่างเท่าเทียมกันเท่านั้น