วันที่ 19 ก.ย.64 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ลงพื้นที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ติดตามสถานการณ์ปริมาณน้ำเก็บกักของเขื่อน ที่มีความสำคัญต่อการผลิตประปาสำหรับประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ การเกษตร และอุตสาหกรรมทางภาคเหนือ โดยปัจจุบันเขื่อนแม่กวงอุดมธารามีปริมาณน้ำเก็บกักเพียง 53 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 20.4 ของความจุเก็บกักของเขื่อน ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณน้ำเก็บกักที่อยู่ในเกณฑ์น้อย และจะต้องมีการวางแผนเตรียมการรับมือในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึงในเดือนพฤศจิกายนนี้ ด้วยการจัดสรรน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคพร้อมรณรงค์ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่ชลประทานของเขื่อนแม่กวงอุดมธาราในการงดทำนาปรัง ส่วนการบริหารจัดการน้ำให้กับภาคอุตสาหกรรมที่นิคมอุตสาหกรรม จ.ลำพูน จะมีการบริหารความเสี่ยงโดยใช้น้ำจากแม่น้ำปิงผันมาสู่แม่น้ำแม่กวง และสูบเข้าไปใช้ในการประปาและใช้ในนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงยังมีน้ำบาดาลสนับสนุนรองรับในกรณีที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ไม่สามารถส่งน้ำไปยังนิคมอุตสาหกรรมได้ ดังนั้น ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงต้องเร่งช่วยเหลือปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำให้กับเขื่อนแม่กวงอุดมธารา รวมไปถึงเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ในพื้นที่ภาคเหนือให้มีปริมาณมากที่สุดก่อนหมดฤดูฝนในอีก 1 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ สำหรับพื้นที่การเกษตรและแหล่งน้ำที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝนตกไม่ทั่วถึงและตกไม่กระจายตัวก็ยังคงมีความต้องการน้ำอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดย 13 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศ ได้มีการติดตามสภาพอากาศและวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงเป็นประจำทุกวัน ซึ่งเมื่อวานนี้มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 5 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี อ.เมืองราชบุรี อ.จอมบึง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี อ.เมืองศรีสะเกษ อ.น้ำเกลี้ยง อ.โนนคูณ จ.ศรีสะเกษ อ.ดอกสัก จ.สุราษฎร์ธานี และเพิ่มปริมาณน้ำให้พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนภูมิพล นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านการวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันนี้ จากข้อมูลของอุตุนิยมวิทยา พบว่า ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำทางประเทศเวียดนาม ส่งผลทำให้ประเทศไทยพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีโอกาสเสี่ยงฝนตกหนัก และจากการตรวจวัดสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์ฝนหลวง พบว่า สามารถขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 6 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่ - หน่วยฯ จ.เชียงใหม่ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.พะเยา จ.ลำปาง (งาม) พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อน แม่กวงอุดมธารา เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนกิ่วคอหมา และเขื่อนกิ่วลม - หน่วยฯ จ.พิษณุโลก ช่วยเหลือพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนสิริกิติ์ - หน่วยฯ จ.ขอนแก่น ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ขอนแก่น อุดรธานี (ตอนล่าง) พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนห้วยหลวงและเขื่อนน้ำอูน - หน่วยฯ จ.นครราชสีมา ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.นครราชสีมา และ จ.บุรีรัมย์ - หน่วยฯ จ.ลพบุรี ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.สระบุรี ลพบุรี และนครสวรรค์ - หน่วยฯ จ.กาญจนบุรี ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.กาญจนบุรี และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง อีก 7 หน่วยฯ จะติดตามสภาพอากาศตลอดทั้งวัน หากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงและเข้าเงื่อนไขในการปฏิบัติการฝนหลวง จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายทันที ซึ่งพี่น้องเกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวง ติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account: @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100