จากสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน ยังคงมีผู้ป่วยเพิ่มจำนวนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทในกลุ่ม มีเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือประชาชน และพร้อมแบ่งเบาภาระของภาครัฐ จึงได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) สำนักงานหลักประกัน สุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และพันธมิตรทางการแพทย์ได้แก่ มูลนิธิโรงพยาบาลในเครือบางปะกอกฯ และโรงพยาบาลปิยะเวท จัดตั้ง “หน่วยคัดกรอง และโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End)” ภายใต้ “โครงการลมหายใจเดียวกัน กลุ่ม ปตท.” ขึ้น เพื่อช่วยลดการเสียชีวิต บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยเร็วที่สุด สำหรับหน่วยคัดกรอง และ โรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End) แห่งนี้ กลุ่ม ปตท. มีความตั้งใจให้มีการดำเนินการที่มุ่งเน้น “ตรวจเร็ว แยกเร็ว รักษาเร็ว” ซึ่งจะเป็นการตรวจรักษาแบบครบวงจร โดยบริษัทในกลุ่ม ปตท. ได้คิดค้นเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในการผลิตอุปกรณ์ และครุภัณฑ์ทางการแพทย์มาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีความรวดเร็วและปลอดภัยต่อทั้งบุคลากรทางการแพทย์และผู้มารับการตรวจ โดยเฉพาะเสื้อกาวน์พลาสติกป้องกันการติดเชื้อ (PE Gown) เป็นเสื้อกาวน์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Disposable Gown) ผลิตจากเม็ดพลาสติกชนิดโพลิเอทิลีน (PE) คุณภาพสูง แบรนด์ InnoPlus โดย GC ออกแบบให้น้ำหนักเบา สวมใส่สบาย ระบายอากาศได้ดี มีความเหนียวและยืดหยุ่นสูง มีคุณสมบัติในการป้องกันการปนเปื้อนสารคัดหลั่ง ขณะเดียวกันก็ออกแบบให้มีความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน หลังใช้งานสามารถกระตุกเสื้อให้ฉีกขาดเพื่อทิ้งได้ทันที เพื่อลดการสัมผัส และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ รวมถึงหมวกอัดอากาศป้องกันการติดเชื้อ (Powered Air-Purifying Respirator: PAPR) เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้สวมใส่เพื่อการป้องกันในระดับสูง กรณีบุคลากรทางการแพทย์ต้องทำหัตถการให้กับผู้ป่วยโควิด-19 สำหรับกล่องกรองอากาศของอุปกรณ์ PAPR ต้นแบบ จะขึ้นรูปโดย GC ด้วยเทคโนโลยี 3D Printing และชุดตรวจ Abbott’s COVID-19 Antigen Test Device เป็นชุดตรวจเชื้อโควิด-19 ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก WHO EUL (Emergency Use List) โดยชุดตรวจนี้เป็นระบบ Close System และ Single Flow ป้องกันการปนเปื้อน หรือการฟุ้งกระจาย และมีสาร Inactive ของเชื้อโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถแพร่กระจายได้ สามารถใช้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ทุกสายพันธุ์ และสามารถตรวจหาได้ที่ความเข้มข้นของเชื้อต่ำที่ค่า CT (Cycle Threshold) เท่ากับ 33 นอกจากนี้ทีมวิจัยของ ปตท. โดยฝ่ายวิจัยเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมสถาบันนวัตกรรม จึงได้คิดค้นวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เครื่องต้นแบบบำบัดอากาศที่สามารถบำบัดได้ทั้ง PM2.5 และเชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศอีกด้วย สำหรับ “หน่วยคัดกรอง และโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End)” ถือว่าเป็นต้นแบบที่ภาคธุรกิจจับมือกับภาครัฐ ประกอบด้วย 4 จุดหลัก ได้แก่ จุดที่ 1 หน่วยคัดกรอง โครงการลมหายใจเดียวกัน ณ อาคาร EnCo Terminal หรือ EnTer ของ บริษัท Energy Complex กลุ่ม ปตท. ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ เพื่อใช้เป็นจุดคัดกรองสำหรับกลุ่มเสี่ยงมีการวางระบบดิจิทัลเพื่อลงทะเบียน และเริ่มจากการตรวจโดยใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit และหากพบว่ามีการเสี่ยงติดเชื้อ จะนำส่งตรวจ RT-PCR ต่อไป สำหรับผู้ป่วยระดับสีเขียวที่ตรวจพบ สามารถทำการดูแลตนเองเบื้องต้นที่บ้านหรือในชุมชน (Home or Community Isolation) โดยจะได้รับมอบ “กล่องพลังใจ คนไทยไม่ทิ้งกัน” ประกอบไปด้วยชุดอุปกรณ์การทางแพทย์และยาที่จำเป็น รวมทั้งระบบติดตามอาการ จุดที่ 2 , 3 และ 4 จัดเตรียมเป็นโรงพยาบาลสนามครบวงจร โครงการลมหายใจเดียวกันเพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 รองรับการรักษาผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ทุกระดับความรุนแรง ภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลปิยะเวท “โรงพยาบาลสนาม” สำหรับผู้ป่วยระดับ “สีเขียว” เปิดให้บริการในรูปแบบของ Hospitel กระจายไปในหลายโรงแรมใน กทม. จำนวนกว่า 1,000 เตียง รองรับผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจากหน่วยคัดกรองอย่างเป็นระบบ “โรงพยาบาลสนาม” สำหรับผู้ป่วยระดับ “สีเหลือง” สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการในระดับหนักขึ้นเปิดให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ มีเตียงผู้ป่วยจำนวน 300 เตียง มีระบบออกซิเจน ต่อ Direct Tube ส่งตรงถึงทุกเตียงผู้ป่วย พร้อมเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของกลุ่ม ปตท. เพื่อให้การดูแลคนไข้ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ เตียงพลาสติกรับน้ำหนักสูง หุ่นยนต์ CARA เป็นหุ่นยนต์ลำเลียงเพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลคนไข้รวมถึงหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อ Xterlizer UV Robot “โรงพยาบาลสนาม” สำหรับผู้ป่วยระดับ “สีแดง” จัดสร้างโรงพยาบาลสนาม ICU บนพื้นที่ 4 ไร่ สำหรับผู้ป่วยจำนวน 120 เตียง ให้บริการสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก โดยปรับพื้นที่โล่งของโรงพยาบาลปิยะเวทเป็นสถานที่ก่อตั้ง โดยจัดทำห้องรักษาความดันลบแยกรายผู้ป่วย ห้องละ 1 เตียง ซึ่งเป็นครั้งแรกของโรงพยาบาลสนามในประเทศ พร้อมระบบ Direct Tube ส่งท่อออกซิเจน ตรงทุกห้องผู้ป่วย และมีการติดตั้งถังออกซิเจนเหลวขนาด 10,000 ลิตรพร้อมห้องฉุกเฉินให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ที่ผ่านมา กลุ่ม ปตท. ได้จัดตั้ง “โครงการลมหายใจเดียวกัน” เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 ของ ประเทศร่วมเป็นพลังต่อลมหายใจของประชาชน รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไป โดยในระยะแรกได้เร่งส่งมอบเครื่องช่วยหายใจ เครื่องให้ออกซิเจนอัตราไหลสูง กว่า 400 เครื่อง พร้อมสนับสนุนออกซิเจนเหลวแก่ โรงพยาบาลในพื้นที่วิกฤตและมีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อใช้ในการรักษาอาการผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัด รวมกว่า 300 แห่ง ทั่วประเทศ ขณะเดียวกันได้สนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม 7 แห่ง ร่วมกับกรุงเทพมหานคร จัดหน่วยวัคซีนเคลื่อนที่เชิงรุกใน 4 พื้นที่เปราะบางและมีความเสี่ยงสูง รวมถึงเดินหน้าโครงการ Restart Thailand ต่อเนื่องทำให้มีอัตราการจ้างงานภายในประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 25,000 อัตราในช่วงที่ สภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน กลุ่ม ปตท. ได้สนับสนุนความช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ร่วมบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในภาวะวิกฤตโควิด–19 แล้วรวมเป็นงบประมาณจำนวนกว่า 1,700 ล้านบาท