นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนกรกฎาคม 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 22,650.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 20.27% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 708,651.66 ล้านบาท ขยายตัว 22.16% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัยพบว่า การส่งออกในเดือนกรกฎาคมขยายตัว 25.38%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 22,467.37 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 45.94% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 712,613.16 ล้านบาท ขยายตัว 48.22% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม 2564 เกินดุลเท่ากับ 183.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ขาดดุล 3,961.50 ล้านบาท สำหรับภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม-กรกฎาคมของปี 2564 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 154,985.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 16.20% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 4,726,197.35 ล้านบาท ขยายตัว 13.93% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 152,362.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 28.73% มีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 4,711,274.91 ล้านบาท ขยายตัว 26.34% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม-กรกฎาคมของปี 2564 เกินดุล 2,622.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 14,922.44 ล้านบาท นอกจากนี้ สรท.ได้ปรับคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 อยู่ที่ 10-12% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ 7-10% โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญในปี 2564 ได้แก่ การฟื้นตัวอย่าแข็งแกร่งของเศรษฐกิจโลก อาทิ การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญอาทิ สหรัฐ จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น สืบเนื่องจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆตามปกติ และราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวสูงกว่าปีที่แล้วอย่างต่อเนื่อง จากแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐฯ ที่เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ รวมถึงค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่เริ่มส่งสัญญาณอ่อนตัว ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2564 อาทิ สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่มีความรุนแรงในประเทศ ปัญหาการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ การยกระดับมาตรการคุมเข้มในการตรวจหาเชื้อโควิดในต่างประเทศ อาทิ ประเทศจีน ที่เพิ่มระดับความเข้มงวดในการตรวจโควิดกับสินค้าที่นำเข้าเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการหมุนเวียนตู้สินค้า และการส่งออกในบางรายสินค้า การขาดแคลนแรงงาน ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่า จากปัจจัยความกังวลต่อสถานการณ์ระบาดของโควิดในประเทศ ส่งผลด้านลบต่อทางเศรษฐกิจไทยปี 2564 และปริมาณปัจจัยการผลิตไม่เพียงพอและต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น อาทิ ปัญหาการขาดแคลนชิป สินค้าเหล็ก ผลผลิตทางการเกษตร และอาจมีแนวโน้มยังคงขาดแคลนต่อเนื่องถึงไตรมาส 4/2564 โดยข้อเสนอแนะของ สรท.คือ 1.ขอให้รัฐช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 10,000 บาท/คน/เตียง สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมและภาคการผลิตที่เริ่มเข้ามาตรการ Factory Quarantine (FQ) หรือ Factory Accommodation Isolation ในช่วงตั้งต้นของการดำเนินมาตรการ 2.สนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ทางสาธารณสุข อาทิ ชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 หรือ Antigen Test Kit (ATK) ให้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือมีพนักงานบางส่วนติดเชื้อ และต้องมีการตรวจติดตามพนักงานอื่นที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นระยะ อย่างน้อย 7-14 วันต่อครั้ง ซึ่งเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูงโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี รวมถึงขอให้มีการควบคุมราคาชุดตรวจ ATK ให้อยู่ในราคาที่เหมาะสม 3.เร่งฉีดวัคซีนให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกให้ครอบคลุมโดยเร็ว เพื่อช่วยให้แรงงานลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อและมีรายได้ต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยรักษากำลังซื้อของครัวเรือนทั่วประเทศและพยุงเศรษฐกิจในประเทศให้สามารถเดินหน้าต่อไป