แนะบูมการท่องเที่ยวแทนสร้างเขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ภาคประชาสังคมสองฝั่งจัดมหกรรม “หลงรักทวาย” รัฐมนตรีตะนาวศรีชี้ทำได้ง่ายกว่า-ไม่ต้องใช้ทุนมหาศาล เตรียมส่งเสริมชุมชนมอแกนมะริด-ชุมชนหาปลาซันลานเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ที่แบมบูการ์เด้น เมืองทวาย รัฐตะนาวศรี ประเทศพม่า เครือข่ายภาคประชาคมทวายกว่า 20 องค์กรร่วมกับเสมสิขาลัยและศิลปินจากกลุ่มศิลปะชุมชนได้จัดงานมหกรรมหลงรักทวาย โดยภายในงานมีนิทรรศการภาพวาดและภาพถ่ายแง่มุมต่างๆในทวาย รวมทั้งการแสดงศิลปวัฒนธรรมบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ และเวทีเสวนาเพื่อฟังเสียงชาวทวายต่อการพัฒนา โดยมีประชาชนทวายเดินทางมาร่วมงานอย่างคับคั่ง ทั้งนี้ผู้แทนภารประชาคมทวายและผู้แทนไทยได้ร่วมกันกล่าวเปิดงานโดยประธานกลุ่มศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านทวาย กล่าวว่าทวายเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีศิลปวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ทั้งในเรื่องการแต่งตัว ทรงผมโดยยุคก่อนผู้หญิงไว้ผมยาวกันทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีวัดเก่าแก่และเมืองโบราณ รวมถึงศิลปะด้านดนตรีและการแสดงต่างๆ โดยการรำทวายเป็นที่ยอมรับไปทั่วประเทศจนมีการเชิญไปร่วมงานต่างๆเสมอสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนทวายเป็นอย่างยิ่ง และรัฐบาลก็ได้ยกย่องมอบรางวัลให้ ดังนั้นคนทวายจึงต้องสืบสานกันต่อไป ขณะที่ผู้แทนไทยโดยนางสาวจิตติมา ผลเสวก ผู้ก่อตั้งศิลปชุมชน กล่าวเปิดงานว่าขอแสดงความยินดีกับการจัดงานครั้งนี้ซึ่งเท่าที่เห็นภาคประชาคมทวายร่วมกันเตรียมและจัดงานทำให้รู้สึกปลาบปลื้ม และทุกคนที่เดินทางมายังทวายต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าหลงรักทวายเพราะทวายน่ารักจริงๆ ที่น่าชื่นชมที่สุดคือชาวทวายที่ช่วยกันรักษาศิลปวัฒนธรรมดีงามไว้ได้และมีน้ำใจกับคนไทยมาโดยตลอด นอกจากนี้ภายในงานยังได้มีเวทีเสวนาในหัวข้อ “ความงามทางธรรมชาติและการพัฒนาการท่องเที่ยวในทวาย”โดยนายมยิ่นมานน์ รัฐมนตรีทรัพยากรและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรัฐตะนาวศรี กล่าวว่าการจัดงานมหกรรมหลงรักทวายครั้งนี้แสดงออกถึงความรักด้านการท่องเที่ยวทำให้เห็นถึงความตื่นตัวที่ภาครัฐต้องสานต่อเพื่อให้ประสบความสำเร็จมากขึ้นโดยภาครัฐจะหารือและวางแผนต่อยอดกันต่อไป อย่างไรก็ตามนักท่องเที่ยวต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเมืองทวายมีความสงบและมีธรรมชาติสวยงาม รวมทั้งประเพณีและวัฒนธรรมเก่าแก่ อาหารอร่อยทำให้ทวายมีชื่อเสียง ดังนั้นหากชาวทวายร่วมมือกันจะต้องรักษาสิ่งนี้เอาไว้ นายมยิ่นมานน์กล่าวว่า แม้ทรัพยากรธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรมของทวายจะไม่เหมือนในอดีตแต่ก็ไม่ได้ถูกทำลายมากนักถือว่าเป็นต้นทุนที่สำคัญด้านการท่องเที่ยวโดยมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆแตกต่างจากการพัฒนาในด้านอุตสาหกรรมใหญ่ๆที่ต้องใช้ทุนมหาศาลและทำได้ยากกว่า ดังนั้นการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวจึงเป็นทางเลือกที่ดี อย่างไรก็ตามขณะนี้อำนาจในการตัดสินใจต่างๆยังขึ้นอยู่กับรัฐบาลกลางเป็นส่วนใหญ่ นางสาวจิตติมา ผลเสวก ผู้ก่อตั้งกลุ่มศิลปะชุมชน กล่าวว่าแม้การเดินทางลำบากแต่เมื่อมาถึงทวายทำให้หายเหนื่อย แรกที่เข้ามายังเห็นรถม้าวิ่งมากมาย แต่ตอนนี้หายไปหมด คนไทยจำนวนมากเมื่อได้มาทวายทำให้รู้สึกว่าได้ย้อนกลับไปที่อดีตแต่ไม่ใช่เรื่องของความล้าสมัย เพียงแต่เมื่อก่อนประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีความงดงามต่างๆเช่นเดียวกับที่ทวาย แต่สิ่งเหล่านั้นได้ขาดหายไป “ทวายยังเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของประเทศในภูมิภาคนี้ ทั้งปลา กุ้งแห้ง เม็ดมะม่วง ต่างเป็นสินค้าส่งออก รวมถึงส่งไปขายในประเทศไทย ปัจจุบันโลกสื่อสารกันรวดเร็ว ผู้คนต่างอยากท่องเที่ยว ดิฉันคิดว่าการพัฒนาเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของทวายเหมาะสมกว่าการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมเพราะทำให้ทรัพยากรที่มียังคงอยู่ เรามีบทเรียนการท่องเที่ยวจากไทยทั้งเรื่องขยะ การบุกรุกที่ดิน นักท่องเที่ยวรุกล้ำวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น”น.ส.จิตติมา กล่าวและว่า ถนนสายต้นตาลเป็นเส้นทางที่รื่นรมณ์ และได้ดื่มเครื่องดื่มท้องถิ่นที่เป็นภูมิปัญญาของเมืองทวาย อยากให้ช่วยรักษาเอาไว้ เรามีความฝันว่าผู้ที่มาท่องเที่ยวไม่ใช่มาเที่ยวอย่างเดียว แต่มาร่วมดูแลทรัพยากรของทวายด้วย นางมาซินหม่า ผู้แทนธุรกิจการท่องเที่ยวกล่าวว่าตัดสินใจสร้างที่พักที่หาดมองมะกันตั้งแต่ปี 2013 โดยตอนแรกยังมีนักท่องเที่ยวไม่มากนัก แต่ต่อมาก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่สิ่งที่ต้องแก้ปัญหาคือเรื่องขยะมูลฝอยเพราะเมื่อถนนไปถึงและมีนักท่องเที่ยวก็มักมีขยะเพิ่มขึ้น ซึ่งตอนนี้ได้รวมกลุ่มอาสาสมัครเก็บขยะและแยกเพื่อรีไซเคิล นายมยิ่นมานน์ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า รัฐตะนาวจะสนับสนุนเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน เช่น การท่องเที่ยวในชุนชนมอแกนในหมู่เกาะมะริด และการท่องเที่ยวชุมชนซันลานที่เป็นหมู่บ้านประมงและตลาดขายปลาในทวาย อย่างไรก็ตามการท่องเที่ยวของตะนาวศรีเพิ่งเริ่มต้น หากเปรียบเทียบกับประเทศไทยแล้วถือว่าเรายังเป็นเด็ก ขณะที่ของไทยเป็นคนหนุ่มสาว ดังนั้นจึงอยากขอคำแนะนำต่างๆจากประเทศไทยด้วย