คอลัมน์ "ด้วยสมองและสองมือ" ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธงเทพ ศิริโสดา อาจารย์กฤติน วิจิตรไตรธรรม นางสาวรวินันท์ ลอยเมฆ และนางสาวธณัญญา สุขินันท์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้สร้างมูลค่าเสื่อลำแพนบ้านค้อ ตำบลดงบัง อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี นำองค์ความรู้การออกแบบต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่มาตรฐานสากล ออกแบบต้นแบบรีสอร์ทจากวัสดุเสือลำแพนบ้านค้อ สร้างคุณค่าให้การท่องเทียวเชิงเกษตร จังหวัดปราจีนบุรี โดยได้รับแหล่งทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธงเทพ ศิริโสดา เล่าว่า ในพื้นที่มีการทำเสื่อลำแพนเป็นภูมิปัญญาเดิมอยู่แล้ว จึงมีการเปลี่ยนแปลงความเป็นเสื่อลำแพนให้เกิดรูปแบบใหม่ทางการตลาด เกิดเอกลักษณ์ สร้างโอกาสให้กับชุมชนโดยนำเอาดีไซน์งานสร้างสรรค์มาสร้างจุดเด่นให้กับชุมชน “ปัจจุบันตลาดมีความต้องการสร้างเอกลักษณ์กับงานวัฒนธรรมในปัจจุบันมีบทบาทต่องานออกแบบให้สินค้า สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างองค์ความรู้จากการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นทุนทางวัฒนธรรมซึ่งหากสามารถสร้างเอกลักษณ์ให้กับผลงาน ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบทางธุรกิจ การสร้างผลิตภัณฑ์คิดค้นด้วยหลักการวิทยาศาสตร์และความรู้สมัยใหม่ เพื่อพัฒนาประเทศในรูปแบบของการพึ่งพาตนเอง” จากการลงพื้นที่ทำวิจัยและพูดคุยกลับกลุ่ม ในการออกแบบรีสอร์ทใช้วัสดุลำแพนบ้านค้อ ข้อดีของเสื่อลำแพนบ้านค้อคือลมสามารถทะลุผ่านทำให้เย็น มีความคงทน ขายความเป็นรากฐานของชุมชน ได้ออกแบบรีสอร์ทต้นแบบทั้งหมด 6 รูปแบบ ซึ่งชาวบ้านในชุมชนเลือกมา 3 รูปแบบ เพื่อให้เหมาะกับภูมิอากาศสภาพแวดล้อม ปัจจุบันได้ออกแบบและสร้างอาคารเสื่อลำแพนบ้านค้อต้นแบบ ความสูง 5 เมตร ยาว 7 เมตร ออกแบบด้วยโครงสร้างเหล็ก และภายในได้มีการออกแบบเป็นเฟอร์นิเจอร์น็อคดาวน์ด้วยวัสดุเสื่อลำแพนบ้านค้อทั้งหมด สามารถถอดประกอบเองใช้เวลาประกอบเพียง 1 วัน ราคาเพียง 200,000 บาท ขณะบ้านน๊อคดาวน์ตามท้องตลาดราคาอยู่ที่ 300,000 บาท องค์ความรู้ทั้งหมดชาวบ้านสามารถทำได้เอง เพื่อสร้างรายได้ให้กับทางกลุ่มเสื่อลำแพนบ้านค้อ จังหวัดปราจีนบุรี อาจารย์กฤติน วิจิตรไตรธรรม เพิ่มเติมว่า แนวคิดที่จะผลิตเป็นแผ่นโซลิดวอลล์เพื่อใช้ในการทดแทนวัสดุที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นการเสริมสร้างมูลค่าแล้วก็ทำรายได้ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น รวมถึงพัฒนาวัสดุใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในวงการก่อสร้างด้วยการนำผงไม้ไผ่ที่เหลือจากการทำเสื่อลำแพน มาอัดแทนการใช้วัสดุเดิมๆ ที่มีอยู่ ข้อดีของวัสดุที่นอกเหนือจากมาตรฐานความแข็งแรงคงทนเทียบเท่าวัสดุมาตรฐานทั่วไปในการก่อสร้างแล้ว ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ มีการปิดผิวด้วยเสื่อลำแพนซึ่งมีลวดลายในความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนสามารถพัฒนาลวดลายใหม่ๆ ขึ้นมาได้ นางสาวรวินันท์ ลอยเมฆ นักศึกษาชั้นปีที่ 5 เล่าว่า เมื่อมีตัวอาคารควรมีเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งภายใน นำวัสดุเสื่อลำแพนบวกกับวัสดุที่เป็นปัจจุบันก็คือเหล็ก วัตถุประสงค์คือต้องการนำมาใช้ในรีสอร์ทสามารถเข้าถึงลูกค้า และเป็นการเพิ่มมูลค่าสู่ธรรมชาติ แนวคิดออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ต้องการพัฒนาเฟอร์นิเจอร์ที่อยู่ภายในอาคารรีสอร์ท หรือว่าภายในบ้านได้ด้วย แนวคิดคือวิถีชีวิตบวกธรรมชาติ วิถีชีวิตการจักสานของในชุมชน ธรรมชาติคือวัสดุที่มีอยู่ในพื้นถิ่น เฟอร์นิเจอร์จากเสื่อลำแพนสำเร็จรูปที่สามารถถอดประกอบเองได้สืบค้นข้อมูลและศึกษาจากแนวคิดที่มีการทำเฟอร์นิเจอร์ของรสนิยมของคนปัจจุบัน ผศ.ธงเทพ กล่าวทิ้งท้ายว่า เพื่อสร้างโอกาสให้กับชุมชน เพิ่มช่องทางให้คนรับรู้ถึงวัสดุพื้นถิ่นสู่มาตรฐานสากล การนำงานเข้าประกวดยังเวทีต่างประเทศ โดยได้รับรางวัลจากเวทีต่างประเทศ ผลงาน การออกแบบต้นแบบรีสอร์ทจากวัสดุเสื่อลำแพนบ้านค้อ ได้รับเหรียญทอง จากการประกวด “20th International Expo on Innovations Exhibition (MTE 2021) ณ ประเทศมาเลเซีย และผลงาน "เสื่อลำแพน : เฟอร์นิเจอร์ : น็อคดาวน์" ได้รับรางวัล “เหรียญเงิน การประกวดในงาน “Korea International Women's Invention Exposition 2021"” ณ ประเทศเกาหลีใต้ โดยผลงานทั้งหมดได้ยื่นจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ผศ.ธงเทพ โทร.085-5032236 อีเมล์ [email protected] ชลธิชา ศรีอุบล มทร.ธัญบุรี