เลขาฯกฤษฎีกา เผยกฎหมาย 7 ชั่วโคตรเหลือแค่ปรับประเด็นที่ถูกให้ทบทวน ระบุไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ส่งกลับครม.ส่วนถึงขั้น"ห้ามใช้หลวงชาร์ตแบต-ซองตราครุฑใส่เงินทำบุญ"ยังบอกไม่ได้ ให้รอดูในก.ม.ลูก ย้ำเจตนาสกัดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน เมื่อเวลา 14.20 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤฎีกา เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณาตรวจสอบร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวมหรือที่เรียกว่า "กฎหมาย 7 ชั่วโคตร"ว่า เสร็จแล้ว เหลือปรับแก้อีกเล็กน้อย ในบางประเด็นที่มีการทักท้วงให้ทบทวน โดยปรับแก้จากที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)เสนอมา ที่อาจมีมากกว่า 20 มาตราที่เสนอมา ทั้งนี้ เป็นการปรับแก้ให้เข้มข้นสมเหตุสมผลมากขึ้น เมื่อถามว่า ข้อห้ามใช้ไฟหลวงชาร์ตแบตโทรศัพท์ และห้ามใช้ซองตราครุฑใส่เงินทำบุญ เข้มงวดไปหรือไม่ นายดิสทัต กล่าวว่า เป็นเรื่องที่จะไปกำหนดรายละเอียดมา ไว้ในกฎหมายลูกทั้งหมด แต่บอกไม่ได้ว่าจะลงรายละเอียดขนาดนั้นหรือไม่ "ส่วนใหญ่กฎหมายประเภทนี้ต้องดูที่เจตนา สร้างเพื่อเป็นระบบป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนในหลายแวดวง เช่น รัฐวิสาหกิจ ให้เป็นระบบมาตรฐาน บอกล่วงหน้าต้องตั้งเกณฑ์ไว้ก่อนว่า เรื่องอะไรที่ต้องแจ้งให้เขาทราบก่อนเพื่อป้องกัน เพราะถ้ามาตรวจสอบที่หลังมันจะยาก และมันไม่ชัดเจนด้วย" นายดิสทัต กล่าว เมื่อถามว่า ตามกฎหมายนี้ครอบคลุมถึงครอบครัวเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ นายดิสทัต กล่าวว่า น่าเป็นผู้ที่มีส่วนได้เสีย ถือเป็นหลักการเดิม ซึ่งในกฎหมายต้องกำหนดให้ชัดเจนครอบคลุมแค่ไหน เมื่อถามว่า โดยเนื้อหาสาระบางส่วนจะสอดคล้องกับกฎหมายของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เมื่อถามว่า กฎหมายนี้ แต่ละหน่วยงานต้องมาวางหลักเกณฑ์ของตัวเองใช่หรือไม่ นายดิสทัต กล่าวว่า ใช่ โดยอยู่ในหลักเกณฑ์กลางที่วางไว้ เพียงแต่ไปอยู่ในกฎหมายลูก ทั้งนี้ คาดว่า 1-2 สัปดาห์ นำกลับเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)แล้วเข้าที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ก่อนส่งสนช.พิจารณาต่อไป -ยกเหตุ"อุตตม"ไขก๊อกเพื่อความชัดเจนตัดข้อโต้แย้งเปลี่ยนตัวรมต. นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤฎีกา กล่าวถึงกรณีนายอุตมม สาวนายน รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรมว.ไอซีที ก่อนที่พ.ร.บ.กระทรวง ทบวง กรม จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาในสัปดาห์นี้ ที่จะมีผลให้กระทรวงไอซีทีถูกยุบ และมีผลให้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมว่า เมื่อกระทรวงเปลี่ยนชื่อ รัฐมนตรีก็ต้องออกไปก่อนเพื่อความชัดเจน และตัดปัญหาในข้อโต้แย้งต่างๆ ในการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี