ยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาลไม่มีเรื่องของท้องถิ่น การปฏิรูปประเทศก็ไม่มีเรื่่องของท้องถิ่นเลย แต่คนท้องถิ่นกลับอยู่เฉยโดยไม่คิดอะไร จึงคิดว่าสมาคมท้องถิ่นต่างๆที่มีอยู่ไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องการกระจายอำนาจเท่าที่ควร มีการจัดสัมมนากันอย่างต่อเนื่องแต่ก็ไม่ได้เกิดผลอะไรขึ้นมา จึงคิดว่าอยากจะทำให้ส่วนท้องถิ่นมีพลังในการสื่อสารไปยังรัฐบาลบ้างว่าคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องการปฏิรูปประเทศ เพราะที่ผ่านมารู้สึกว่าบทบาทของสมาคมต่างๆของท้องถิ่นนิ่งเกินไป จึงได้มีการเสนอให้มีการจัดตั้ง “สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการปกครองท้องถิ่น โดยชุมชนท้องถิ่น” คู่ขนานไปกับการปฏิรูปประเทศของรัฐบาล ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการต่อต้านรัฐบาล แต่เป็นการทำข้อเสนอต่อรัฐบาลว่าการปฏิรูปประเทศต้องคำนึงถึงท้องถิ่นบ้าง” ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงที่มาของแนวคิดการจัดตั้ง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการปกครองท้องถิ่น โดยชุมชนท้องถิ่น ศ.ดร.โกวิทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการปฏิรูปสังคมได้มีการใช้ฐานของตำบลในการปฏิรูป ซึ่งมีการปฎิรูปในหลายประเด็น เช่น เรื่องความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม ความยากจน ครอบครัว ผู้สูงอายุ ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น แต่มีคำถามว่าการปฏิรูปเรื่องต่างๆเหล่านี้จะใช้กลไกอะไรในการปฏิรูป ซึ่งคำตอบในการปฏิรูปสังคมนั้นมีความชัดเจนว่ามีการใช้ฐานตำบลในการปฎิรูปสังคม แต่ฐานตำบลกลับพูดไม่ชัดว่าตำบลคือใคร เพราะในตำบลมีเสืออยู่เยอะ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็อยู่ในตำบล สภาองค์กรชุมชนก็อยู่ในตำบล แล้วเขาจะออกกฎหมายยุติธรรมชุมชน ออกกฎหมายผู้นำชุมชนเยอะแยะไปหมด แล้วอบต.ก็มีกฎหมายอยู่ในตำบล เทศบาลมีกฎหมายอยู่ในตำบลบล จึงได้ให้ความเห็นต่อ คณะกรรมการปฏิรูปสังคมไปว่าไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดของกรรมการปฏิรูปสังคมแบบนี้ ที่จะทำให้ในตำบลมีกฎหมายเต็มไปหมด สภาองค์กรชุมชนทะเลาะกับ อบต. กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน มีพรบ.ลักษณะปกครองท้องที่ก็ทะเลาะกับ อบต. เทศบาล จึงเห็นว่าวิธีคิดแบบนี้สังคมก็ไปไม่รอด ต่างคนต่างทำ ขัดแย้งกันไปหมด ได้มีโอกาสไปพูดคุยในการสัมมนาของสมาคมท้องถิ่น โดยบอกว่าผมไม่เห็นด้วย กับการที่สมาคมไปเคลื่อนไหวคัดค้านเรื่องการควบรวม เพราะผมคิดว่าประเด็นเรื่องการควบรวม ยกฐานะอบต.เป็นเทศบาล หรือการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนหลัง ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กน้อย มองว่าทุกวันนี้ท้องถิ่นหลงทางกันหมด เพราะประเด็นใหญ่ไม่ได้อยู่ตรงนี้ เรื่องเหล่านี้มันเป็นกลลวงของผู้มีอำนาจรัฐหรือเปล่า เป็นวาระซ้อรเร้นอะไรบางอย่างหรือเปล่า หรือเป็นการเช็คกระแสการเมืองที่จะไปเลือกอ อบจ.ก่อน แล้วท้องถิ่นทั้งหลายก็ไปเต้นตาม ซึ่งมันไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่เรื่องการอำนาจกระจายสู่ท้องถิ่นเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศชาติ การใช้ท้องถิ่นเป็นฐานในการปฏิรูปประเทศเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องพูดดังๆให้รัฐบาลฟัง เพราะถ้ารัฐบาลใช้กลไกราชการ กลไกของรัฐมาปฏิรูปประเทศมันไม่มีทางสำเร็จ” ศ.ดร.โกวิทย์ กล่าวว่า การตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการปกครองท้องถิ่น โดยชุมชนท้องถิ่น จะมีบทบาทต่างจากสมาคมท้องถิ่นต่างๆที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพราะการตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่น โดยชุมชนท้องถิ่นจะเป็นการรวมพลังของกลุ่มนักวิชาการ กลุ่มภาคประชาชน ตัวแทนทั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคส่วนต่างๆ เข้ามาร่วม เช่น สมมุติว่ามีสภาปฏิรูปประเทศ ด้านการปกครองท้องถิ่น โดยชุมชนท้องถิ่น ก็จะมีการดึงนักวิชาการจากสถาบันต่างๆ มาคุยกันเป็นเรื่องๆไป ดึงตัวแทนสมาคมท้องถิ่น หรือภาคส่วนต่างๆมาเป็นตัวแทน มาคุยกันให้สะเด็ดว่าการปฎิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่นต้องใช้ฐานอะไร ถ้าจะใช้ฐานตำบล ก็ต้องตอบให้ชัดว่าใครเป็นหน่วยงานหลักในตำบล "สำหรับผมยืนยันว่าจะยืนอยู่กับท้องถิ่น เพราะถึงแม้ที่ผ่านมาท้องถิ่นจะมีข่าวไม่ดีบ้างมีข่าวคอรัปชั่น หรือปัญหาผู้มีอิทธิพลบ้าง แต่คิดว่าท้องถิ่นก็ยังเป็นกลไกหลักตามรัฐธรรมนูญในการพัฒนาประเทศ และเป็นไปในทางที่ดีตลอดมา มีนวัตกรรมใหม่ๆเกิดขึ้นตลอดเวลา ถ้าเราพัฒนาท้องถิ่นให้มีศักยภาพมันก็สามารถเดินหน้าเรื่องพัฒนาประเทศได้ สามารถที่จะวางใจให้ท้องถิ่นเป็นกำลังหลักในการพัฒนาตำบลได้ ส่วนกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ก็มาบูรณาการ มาช่วยกัน สภาองค์กรชุมชนก็มาช่วยกัน แต่ไม่เห็นด้วยกับการเขียนกฎหมายให้ตำบลมีกฎหมายเยอะแยะไปหมด อาจจะต้องรื้อกฎหมาย อบต. อบจ. เทศบาลใหม่ เพื่อดึงพลังมวลชนภาคประชาสัมคมต่างๆ มีการบวกสภาองค์กรชุมชน เข้าไปในกฎหมาย อบต.เทศบาล บูรณาการกฎหมาย โดยทำกฎหมายฉบับเดียวของตำบลแต่บูรณาการทั้งหมด” ศ.ดร.โกวิทย์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาการปฏิรูปท้องถิ่นไม่มีความก้าวหน้า เพราะในตำบลมีองค์กร มีหน่วยงานเยอะแยะไปหมด โครงสร้างตำบลถูกเขียนให้แยกส่วน ไม่ได้มีการบูรณาการกัน ไม่เชื่อมสัมพันธ์กัน สภาอค์กรชุมชนไปทาง กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านไปทาง อบต.ไปทาง เทศบาลไปอีกทาง การปฎิรูปท้องถิ่นจึงไม่ประสบผลสำเร็จ จากปัญหาดังกล่าวนี่เองจึงได้มีแนวคิดในการจัดตั้งสภาปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่น โดยชุมชนท้องถิ่น เป็นการปฏิรูปท้องถิ่นภาคประชาชน ที่จะมีการขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปท้องถิ่นเสนอไปยังรัฐบาล เป็นการเสนอแนะสิ่งดีๆไปให้รัฐบาล “ซึ่งหากเราปล่อยให้รัฐบาลเป็นฝ่ายคิดเรื่องการปฏิรูปฝ่ายเดียวก็หวั่นว่าการปฏิรูปที่เกิดขึ้นจะเป็นการปฏิรูปผิดทาง การเกิดขึ้นของสภาปฏิรูปประเทศ ด้านการปกครองท้องถิ่นโดยชุมชนท้องถิ่น จะต้องเป็นการปฏิรูปโดยภาคประชาชนและภาคชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวกลาง เป็นแกนกลางให้กับท้องถิ่นทั้งหมด ไม่ได้คิดแค่ผลประโยชน์ของกลุ่มตนเองหรือองค์กรตัวเอง แต่เป็นการขับเคลื่อนร่วมกันเพื่อทำให้การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นถูกเสนอไปยังรัฐบาล เพราะเราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้เห็นว่าการปฏิรูปประเทศไม่มีทางที่จะสำเร็จได้ถ้ากระบวนการมีส่วนร่วมมันไม่เกิด ไม่มีการฟังเสียงประชาชน หรือไม่เอาบทเรียนจากต่างประเทศมาเป็นแนวทาง เพราะหลายประเทศใช้โมเดลท้องถิ่นในการพัฒนาประเทศประสบผลสำเร็จอย่างดี ทั้ง เยอรมัน เกาหลี ญี่ปุ่น หรือประเทศแถบยุโรป เขาก็เอาท้องถิ่นเป็นฐานในการปฏิรูป ศ.ดรโกวิทย์ กล่าวว่า ถ้ามีการก่อตัวของสภาปฏิรูปประเทศ ด้านการปกครองท้องถิ่น โดยชุมชนท้องถิ่น คิดว่าคงจะเริ่มต้นไม่ต้องใหญ่ เริ่มจากจุดเล็กๆ แต่จะต้องมีพลังความคิด มีพลังที่จะเสนอให้แหลมคม มีงานวิจัยรองรับ โดยมีหลักการทำงาน คือ ให้เสนอแนวคิด รวบรวมและเสนอออก ที่ผ่านมาเราเป็นฝ่ายตั้งรับนโยบายจากรัฐบาลมาโดยตลอด ไม่เคยเป็นฝ่ายรุกเลย สมาคมต่างๆของท้องถิ่นที่มีการเคลื่อนไวก็ไม่มีพลังเพราะต่างคนต่างก็ยุ่งแต่เรื่องตัวเองและขับเคลื่อนไม่ได้ เพราะไม่มีคนกลาง ดังนั้นการตั้งสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่น โดยชุมชนท้องถิ่น ก็จะมาเป็นคนกลางในการเรียกร้องให้สมาคมท้องถิ่นทั้งหลายเป็นฝ่ายรุกใส่รัฐบาลบ้าง คือทำข้อเสนอ ทำกฎหมาย และเสนอให้รัฐบาล ไม่ใช่ปล่อยให้รัฐบาลเป็นฝ่ายกำหนดมาทุกเรื่อง พอเรื่องไหนไม่เห็นด้วยแล้วก็ไปประท้วงรัฐบาลซึ่งเป็นการตั้งรับมาโดยตลอด ดังนั้นต่อไปนี้ท้องถิ่นต้องกลับมาเป็นฝ่ายรุกบ้าง รุกในที่นี้คือทำให้เป็นหลักการทำให้เป็นเรื่องที่เรามีความเห็นต่อการพัฒนาประเทศโดยท้องถิ่นบ้าง เราเอารัฐธรรมนูญหมวดว่าด้วยการปกครองท้องถิ่นมานั่งคุยกันว่าเราจะบอกรัฐบาลในเรื่องกฎหมายว่าเรามีจุดยืนอย่างไร ซึ่งคิดว่าเรื่องนี้เราก็ได้ประโยชน์จากรัฐบาลและรัฐบาลก็ได้ประโยชน์จากเรา เมื่อรัฐบาลจะตั้งอนุกรรมาธิการต่างๆก็จะเชิญท้องถิ่นเข้าไปนั่งบ้าง แล้วท้องถิ่นที่ไปนั่งเป็นอนุกรรมาธิการไม่ใช่ไปนั่งแบบว่างเปล่าต้องเอาข้อเสนอจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่นโดยชุมชนท้องถิ่นเข้าไปเสนอด้วย ศ.ดร.โกวิทย์ กล่าวว่า ช่วงต้นอาจจะไม่ได้ราบรื่นอย่างที่พูด แต่จะต้องมีตัวตั้งว่าท้องถิ่นจะต้องเป็นฝ่ายรุกท้องถิ่นจะต้องมีตัวตั้ง ต้องมีโจทก์ที่จะตั้งแล้วเคลื่อน ต้องมีการรวมพลังจากนักวิชาการ ภาคประชาชน ภาคชุมชนท้องถิ่น สมาคมท้องถิ่นทั้งหมด แต่ไม่จำเป็นจะต้องเอาปริมาณมากเป็น 1,000 เป็น 10,000 แต่อาจจะเริ่มต้นผู้ก่อตั้ง30-50 คน แล้วมานั่งคุย วางการทำงานกรอบการทำงานว่าจะเคลื่อนอย่างไรสมมติว่าเราจะหยิบเอาเรื่องรัฐธรรมนูญ ก็มาพูดว่าจะทำตรงไหนบ้าง ตรงไหนที่นักวิชาการช่วย ตรงไหนที่ท้องถิ่นช่วยตรง ไหนที่ประชาชนช่วย จะต้องมีเวทีที่จะแลกเปลี่ยน “การตั้งสภาปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่น โดยชุมชนท้องถิ่น มีเป้าหมายหลักคือ 1.จะมุ่งไปที่การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเป็นแกนหลักในการพัฒนาประเทศ ฐานตำบลต้องเป็นฐานท้องถิ่น การออกกฏหมายในระดับตำบลจะต้องเป็นกฎหมายบูรณาการ 2.สภาปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่นโดยชุมชนท้องถิ่น เป็นตัวกลางดึงพลังการมีส่วนร่วมจากภาคส่วน ทั้งภาคสมาคมท้องถิ่นทั้งหมด ภาคของนักวิชาการที่เห็นคิดว่าทางเดินของประเทศน่าจะถึงเวลาที่จะให้ท้องถิ่นเป็นเป็นตัวปฏิรูป ภาคนักวิชาการที่หลากหลายและภาคประชาชนที่เห็นด้วย แต่ที่ไม่ใช่ภาครัฐ” ศ.ดร.โกวิทย์ กล่าว ปรีชา หยั่งทะเล, ณัษฐพร อินทร์คง : ทีมข่าวภูมิภาค