ตัวผมเองเป็นอีกคนที่อยากเห็นวงการกอล์ฟเยาวชนบ้านเราเติบโต สิ่งที่ผมปรารถนา มากที่สุดก็คงจะเป็นการสร้างความอบอุ่นภายในครอบครัว โดยผ่านทางการเล่นกอล์ฟแบบครอบครัว พ่อ แม่ ลูก เพราะถ้าทุกคนในครอบครัวเล่นกอล์ฟกันหมด สิ่งที่จะตามมาก็คือการเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน พูดภาษาเดียวกัน รู้ลึกซึ้งในสิ่งที่คนในครอบครัวต้องการ และยังสามารถสร้างเสริมความสัมพันธ์เป็นกิจกรรมภายในครอบครัวได้ดีมากๆ เมื่อเป็นเช่นนั้น การดูแลอย่างใกล้ชิดในยามที่ลูกเล่นกอล์ฟ ถือว่าเป็นเรื่องที่พึงกระทำอย่างมาก แต่การกระทำดังกล่าวอาจจะต้องลดความมุ่งมั่น จริงจังลงบ้าง แล้วเด็กจะเล่นกอล์ฟแบบมีความสุขมากขึ้น ผมเชื่อว่ารอยยิ้มที่เกิดขึ้นบนใบหน้าของเด็กๆ หรือของลูกๆ จะสามารถยืดอายุของพ่อแม่ไปได้อีกหลายสิบปี ดังนั้นอยากจะขอให้พ่อแม่ดูแลลูกให้เขาเล่นอย่างมีอิสระมากกว่าการบังคับให้เล่นจะดีกว่า พ่อแม่หลายคนอยากให้ลูกเล่นกอล์ฟเก่งๆ อยากให้ลูกได้ถ้วยรางวัล อยากให้ลูกพัฒนาฝีมือเยอะๆ พ่อแม่ทุกคนก็ต้องการเช่นนั้นเหมือนกัน บางครั้งความต้องการของพ่อแม่ออกมาเป็นรูปธรรมแล้ว ค่อนข้างจะสร้างความกดดันให้กับลูกตัวเอง จนบางครั้งลูกต้องก้มหน้าทำ ก้มหน้าเล่นเหมือนเป็นเช่นหน้าที่ของเขา หากว่าวันหนึ่งวันใดลูกของคุณต้องตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ คุณจะรู้สึกอย่างไร...? ผมมีคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่อยากจะให้ลูกๆ เล่นกอล์ฟเก่งขึ้น และชอบกอล์ฟแบบจริงจัง หากท่านสามารถทำตามได้ทุกข้อ ผมการันตีเลยครับว่า ครอบครัวของคุณจะเป็นครอบครัวที่ลูกเล่นกอล์ฟแล้วมีความสุขกันทั้งบ้านเลย 1. พ่อแม่ต้องศึกษาหาความรู้ตลอดเวลา ซึ่งความรู้ที่ว่านี้ก็คือความรู้เกี่ยวกับกอล์ฟ อย่างน้อยๆ ท่านจะได้รู้แนวทางในการสอนที่ถูกต้องตามแบบมาตรฐาน สำหรับการศึกษาหาความรู้นั้นมีหลากหลายวิธี อาทิ การศึกษาจากตำหรับตำรา หนังสือกอล์ฟฉบับต่างๆ หรือจะศึกษาจากโลกออนไลน์ต่างๆ หรือที่จะเห็นผลหน่อยก็คือยอมลงทุนไปเรียนกอล์ฟกับโปรกอล์ฟหรือผู้เชี่ยวชาญด้านกอล์ฟโดยตรง เพื่อให้รู้เบสิคการเล่นกอล์ฟ ตลอดจนแนวทางในการสอนของโปร เพื่อนำมาประยุกต์ใช้แนะนำลูกตัวเองได้ 2. ทำตัวให้คล้ายกับครูสอนกอล์ฟ ที่บอกว่าให้คล้าย ไม่ใช่ให้เหมือนนะครับ ในการสอนกอล์ฟให้ระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กจะมีหลายอย่างแตกต่างกัน ในบางสิ่งบางอย่างอาจจะดีสามารถนำมาสอนเด็กต่อได้ บางอย่างอาจจะไม่ค่อยเหมาะสมเท่าไรนัก ขอให้เลือกเฉพาะด้านดีนำมาแนะนำลูกต่อไป การเป็นโปรสอนต้องรู้จักการเก็บข้อมูล หมายรวมถึง ข้อมูลการเล่นกอล์ฟ สกอร์ สถิติต่างๆหรือแม้แต่ถ่ายวีดิโอเวลาลูกตีกอล์ฟเก็บเอาไว้ แล้วนำมาวิเคราะห์หาจุดบกพร่อง และแนวทางการแก้ไขร่วมกัน น่าจะเป็นแนวทางสำหรับพ่อแม่ลูกได้ดี 3. อย่าสร้างกฎเหล็กให้กับลูก พ่อแม่อย่าพยายามสร้างเงื่อนไข หรือข้อกำหนด หรือกฎเหล็กให้กับลูกเวลาเล่นกอล์ฟ หรือฝึกซ้อมกอล์ฟ เพราะนั่นอาจทำให้เด็กเกิดความเบื่อหน่าย เกิดแรงกดดัน บีบบังคับตัวเด็กมากจนเกินไป อาจจะนำไปสู่การเลิกเล่นกอล์ฟในอนาคตก็เป็นไปได้ ตัวอย่าง การสร้างเงื่อนไขที่ยากๆ เช่น ถ้าตีลูกนี้ไม่ดี ไม่ต้องพัก, ถ้าวันนี้ออกรอบแล้วตีสกอร์ไม่ดี แล้วต้องโดนตีเป็นต้น สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เด็กเกิดความตั้งใจขึ้นก็จริง แต่พอนานไปจะส่งผลร้ายแรงตามมาได้ 4. ต้องอ่านใจลูกให้ออก พ่อแม่ที่สอนกอล์ฟให้กับลูกๆ ต้องพยายามอย่างมากเลยสำหรับการเข้าอกเข้าใจจิตใจลูกว่า ณ เวลานั้นเขาต้องการอะไร เขามีความสุขกับสิ่งที่เรามอบให้หรือไม่ หากสมมติว่าเราเป็นเด็ก แล้วพ่อแม่มา บอกอย่างนั้นบอกอย่างนี้ แล้วเราทำไม่ได้ พ่อแม่ก็ดุ ก็ด่า ถามว่าเราจะรู้สึกอย่างไร เช่นเดียวกันครับไม่มีความสุขแน่นอน ...พวกเด็กๆ ก็คงมีความรู้สึกไม่แตกต่างจากคุณแน่นอนครับ... 5. พ่อแม่ต้องทำให้ได้ก่อน ในบางครั้งการบอก การแนะนำให้ลูกเล่นกอล์ฟ บางคนถึงกับต้องดุ ต้องด่าลูกเมื่อเวลาลูกทำไม่ได้หรือตีไม่ดี บางคนถึงขั้นมีลงไม้ลงมือกับลูก ผมคิดว่าคุณทำไม่ถูกต้องครับ หากเป็นตัวคุณเองลองเล่นช็อตนั้นดูบ้าง ถ้าคุณทำไม่ได้ดีกว่าลูกก็ขออย่าไปดุด่าลูกเลย หากคุณคิดว่าทุก ช็อตลูกต้องทำได้ดีแบบไร้ที่ติแล้วล่ะก็ ผมคิดว่าคุณกำลังเข้าใจกีฬากอล์ฟแบบผิดๆ ขอให้เข้าใจหลักของความจริงครับ...แม้แต่ ไทเกอร์ วูดส์ อดีตโปรกอล์ฟมือหนึ่งของโลกยังตีพลาด ตกรอบเลย แล้วทำไมเด็กตัวแค่นี้จะตีพลาดไม่ได้ครับ 6. พ่อแม่ต้องเป็นเชียร์ลีดเดอร์และซานตาคลอส หมายความว่า ท่านต้องสวมบทเป็นซานตาคลอสผู้ใจดีหาของขวัญนำความสุขมามอบให้กับลูกของคุณบ้าง หากลูกทำได้ดีก็ควรพูดชื่นชม ปรบมือ หากลูกทำไม่ดีในสายของคุณก็ควรปลอบใจ และให้กำลังใจสู้ใหม่อีกครั้ง บางครั้งการให้ของขวัญ หรือให้ความสุขไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของล้ำค่า มีราคาก็ได้ เป็นคำชมที่ออกจากปากคุณก็เพียงพอแล้ว เชื่อว่าเด็กๆ ทุกคนก็ต้องการแบบนั้น ผมรับรองว่า... ถ้าพ่อแม่คนไหนสามารถทำได้ตามข้างต้น การเริ่มต้นเล่นกอล์ฟจนถึงการพัฒนาฝีมือของลูกก็จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว ภายใต้การดูแลเอาใจใส่ลูกอย่างถูกวิธีและหลักการนะครับ