วันที่ 13 สิงหาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Video Conference) เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2564 ในช่วงท้ายฤดูฝนระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564 โดยมีดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ อาทิ กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมือง กรุงเทพมหานคร เข้าร่วมการประชุม พลเอก ประวิตร กล่าวว่า ประเทศไทยยังเหลือช่วงเวลาอีก 3 เดือน ก่อนจะสิ้นสุดฤดูฝนในปีนี้ โดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ไว้ว่าเดือนสิงหาคม-กันยายน จะเป็นช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุดคิดเป็น 60 – 80% ของพื้นที่ กับมีฝนหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งมีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อน(ดีเปรสชั่นโซนร้อนและไต้ฝุ่น)เคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ส่วนเดือนตุลาคมคาดการณ์ว่า ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่น กับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง ในวันนี้จึงได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการของแต่ละหน่วยงานตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2564 ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ พร้อมได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์น้ำและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชนให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยที่ประชุมวันนี้ได้มีการประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย การเตรียมความพร้อมพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำและพื้นที่อื่น ๆ ในการรับน้ำหลาก ความพร้อมของคันกั้นน้ำ เครื่องสูบน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำ รวมไปถึงการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ การกำจัดผักตบชวาและการกำจัดขยะในคลอง และได้เน้นย้ำในเรื่องการสื่อสารสร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลสถานการณ์น้ำ รวมทั้งการดำเนินการของหน่วยงานเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงด้วย ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศ ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 41,496 ล้าน ลบ.ม. โดยจากการประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยพบว่า เดือนสิงหาคม 2564 - มกราคม 2565 มีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย จำนวน 2,988 ตำบล 630 อำเภอ กระจายอยู่ในพื้นที่ 71 จังหวัดทั่วประเทศ (ปัจจุบันประเทศไทยมี 7,255 ตำบล 878 อำเภอ 76 จังหวัด จากข้อมูลทางการปกครอง ณ วันที่ 31 ธ.ค.63) แบ่งเป็น ภาคเหนือ 847 ตำบล 167 อำเภอ 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 846 ตำบล 201 อำเภอ 19 จังหวัด ภาคตะวันออก 124 ตำบล 38 อำเภอ 7 จังหวัด ภาคตะวันตก 45 ตำบล 23 อำเภอ4 จังหวัด ภาคกลาง 427 ตำบล 67 อำเภอ 10 จังหวัด และภาคใต้ 699 ตำบล 134 อำเภอ 14 จังหวัด ในขณะที่การเตรียมความพร้อมพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรับน้ำหลากในพื้นที่ภาคกลางที่ทุ่งบางระกำ จังหวัดพิษณุโลกได้ทำการเพาะปลูกข้าวตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 ในพื้นที่ 0.265 ล้านไร่ เริ่มเก็บเกี่ยวแล้ว 0.165 ล้านไร่ คิดเป็น 62% ปัจจุบันอยู่ในระหว่างทยอยเก็บเกี่ยวและจะเริ่มรับน้ำเข้าทุ่งได้ประมาณต้นเดือนกันยายน 2564 ในความจุราว 400 ล้าน ลบ.ม เพื่อหน่วงน้ำเก็บไว้ในทุ่ง ลดปริมาณน้ำที่จะลงไปสมทบในพื้นที่ตอนล่าง และมีแผนระบายน้ำออกจากทุ่งในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 ในส่วนพื้นที่เพาะปลูกข้าว 12 ทุ่งตอนล่าง เกษตรกรเริ่มเพาะปลูกในวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ปัจจุบันเพาะปลูกแล้ว 1.023 ล้านไร่ คิดเป็น 89% และจะเริ่มรับน้ำเข้าทุ่งประมาณปลายเดือนกันยายน 2564 โดยสามารถรับน้ำได้ถึง 1,200 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ สำหรังพื้นที่ทุ่งพระยาบรรลือและทุ่งรังสิตตอนใต้ จะไม่มีแผนการรับน้ำเข้าทุ่งในปีนี้ เนื่องจากจะใช้เป็นทางน้ำผ่านไปยังระบบระบายน้ำในพื้นที่ตอนล่างและเร่งระบายออกสู่ทะเลต่อไป นอกจากนี้ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กอนช. ยังเตรียมแผนการรับน้ำเข้าทุ่งในพื้นลุ่มต่ำลำน้ำยัง (ทุ่งนางาม) ต.นางาม อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด โดยเกษตรกรได้เริ่มเพาะปลูกแล้วตั้งแต่ช่วงกลางพฤษภาคม 2564 จำนวน 46,491 ไร่ คาดว่าจะเก็บเกี่ยวช่วงกลางเดือนกันยายน 2564 และจะสามารถเป็นพื้นที่รับน้ำหลากได้ประมาณ 45,000 ไร่ ส่วนในภาคตะวันออกในพื้นที่ลุ่มต่ำลำน้ำบางพลวง จะสามารถรับน้ำเข้าทุ่งในพื้นที่เริ่มตั้งแต่บริเวณด้านแม่น้ำปราจีนบุรีที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ไปตามแม่น้ำปราจีนบุรี ผ่าน อ.ศรีมหาโพธิ อ.เมืองปราจีนบุรี อ.บ้านสร้าง คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 21,000 ไร่ โดยสามารถใช้เป็นพื้นที่รับน้ำเข้าทุ่งได้ในช่วงเดือนสิงหาคม ถึงตุลาคม 2564 ทั้งนี้ กอนช. จะดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2564 ในช่วงท้ายฤดูฝนอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันผลกระทบและลดความเสียหายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน -