เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2564 นายบรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย เปิดเผยว่าได้ชักชวนคนหาปลาทั้งประมงพื้นบ้านและคนตกปลาในหลายจังหวัดที่ติดทะเล ร่วมกันหาปลาเพื่อนำไปช่วยเหลือโรงพยาบาล(รพ.)สนามและครัวกลางที่รองรับผู้ติดเชื้อโควิด เนื่องจากได้ยินเสียงบ่นทั้งจากหมอและพยาบาลที่กำลังทำงานหนักติดต่อกันมานานหลายเดือนรวมทั้งผู้ป่วยว่ากินแต่ข้าวกล่อง ขณะเดียวกันปัจจุบันราคาอาหารทะเลกำลังตกเนื่องจากชาวประมงขนาดเล็กไม่มีตลาดขายเพราะในหลายพื้นที่ถูกปิดตามมาตรการป้องกันโควิด ดังนั้นหลายคนจึงอยากหาปลาสดไปช่วย รพ.สนาม และครัวกลาง โดยจังหวัดที่ร่วมกิจกรรมครั้งนี้ประกอบด้วยชาวประมงและนักตกปลาในจังหวัดสงขลา สตูล นครศรีธรรมราช สุราษฏร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์
“ตอนนี้ปริมาณปลาทะเลมีเยอะ ส่วนหนึ่งเพราะมาตรการต่างๆที่เข้มงวดขึ้น แต่ตลาดปลาก็ปิดเยอะ ทำให้ชาวบ้านต้องตระเวนขายตามหมู่บ้าน หาตลาดไม่ได้ เช่น ที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดชายแดนใต้ จะส่งไปประเทศมาเลเซียก็ไม่ได้ ดังนั้นเราจึงอยากเอาปลาที่หาได้ไปช่วยเหลือในจังหวัดนั้นๆ”นายบรรจง กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในหลายจังหวัดในภาคอื่นๆที่ไม่ได้ติดทะเลมีโอกาสจะได้กินอาหารทะเลส่วนนี้บ้างหรือไม่ นายบรรจงกล่าวว่า จริงๆแล้วชาวประมงก็อยากนำปลาไปช่วยเหลือแต่ติดขัดเรื่องกระบวนการจัดส่งของสดเพราะไม่มีบริษัทรับส่งสินค้าใดรับจ้างส่งให้ แต่หากจะส่งเองก็ต้องใช้ต้นทุนสูงมาก ที่ผ่านมาสมาคมฯก็ได้ส่งปลาแห้งไปช่วยชาวบ้านในเครือข่ายสลัม 4 ภาคที่กรุงเทพฯ
นายเรียง สีแก้ว เครือข่ายประมงพื้นบ้านนครศรีธรรมราชกล่าวว่า วิกฤตโควิดในภาคใต้มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เราให้น้ำหนักหนักในการช่วยเหลือกับ รพ.สนาม เนื่องจากเราทำงานด้านประมงจึงได้นัดกันตกเบ็ดและวางอวน เพื่อเอาปลาไปช่วยเหลือ รพ.สนามโดยนัดหมายกันในวันที่ 13 เริ่มรวมตัวกันแต่ละพื้นที่ตั้งแต่เวลา 16.00 น.และจะมีการถ่ายทอดสดจากพื้นที่ต่างๆร่วมกันทางเพจสมาคมรักษ์ทะเลไทย หลังจากนั้นจะตกปลาและหาปลากันทั้งคืน และจะกลับเข้าฝั่งเช้าวันที่ 14 เพื่อส่งปลาไปครัวกลางและ รพ.สนามของจังหวัดนั้นๆ
“เราอยากชักชวนผู้คนในสังคม สถานการณ์ขณะนี้ใครทำอะไรได้ก็ให้รีบทำ เพื่อช่วยเพื่อน ตามพื้นที่กักตัวต่างๆ เราอยากเห็นสังคมช่วยเหลือกันในยามวิกฤต อยากบอกให้ทุกคนรู้ว่า การอนุรักษ์ทำให้ทะเลมีความอุดมสมบูรณ์และพร้อมรองรับในยามวิกฤต ตอนนี้ทะเลไทยดีขึ้นเยอะโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการอนุรักษ์ เช่น หยุดหาปลาในฤดูวางไข่ การทำบ้านปลา การทำปะการังเทียม รวมถึงการรณรงค์ไม่ให้ใช้เครื่องมือผิดกฎหมายหรือเครื่องมือทำลายล้าง”นายเรียงกล่าว
นายเรียงกล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้เป็นงานอาสาสมัครและเป็นการจุดประกายขึ้นก่อนเพื่อให้สังคมได้ตื่นรู้ จริงๆมีบริบทอื่นๆ เช่น ชาวสวนเอาผลไม้มาช่วยเหลือ โดยในใจลึกๆแล้วอยากให้มีเรื่องราวดีๆในสังคมบ้างท่ามกลางสนามย่ำแย่ อยากให้มีการแบ่งปันกัน โดยครั้งหน้าอาจมัการขยับขยายมากขึ้นเป็น 15-16 จังหวัด