จนถึงวันนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าที่สุดแล้ว “ฝ่ายค้าน” จะจับรัฐมนตรีคนใด ขึ้นเขียงเพื่อ “ซักฟอก” ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจกันบ้าง นอกจากชื่อของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ขึ้นติดบัญชี อันดับหนึ่ง ทั้งที่เหลือเวลาอีกไม่กี่วัน ที่ฝ่ายค้านจะต้องยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาลโดยต้องให้ทันในสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งนี้ก่อนปิดสมัยประชุมในเดือนก.ย.64 และจากกำหนดดีเดย์ที่วางกรอบเวลากันเอาไว้เบื้องต้นตามที่ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ระบุเอาไว้คือวันที่ 16 ส.ค.นี้ ทว่าก็ยังล็อกเป้าเอาไว้ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นตัวหลัก เป็น “ศูนย์รวมปัญหาและความล้มเหลว” เท่านั้น ส่วนรัฐมนตรีรายอื่นๆ มีแค่ “ข่าวลือ” ที่ถูกปล่อยขึ้นมา “เขย่าขวัญ” กันเอง ความหมายและความสำคัญของการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ของพรรคฝ่ายค้านด้วยกันทั้ง 6พรรค ในห้วงเวลานี้แม้จะมีขึ้นในจังหวะที่พล.อ.ประยุทธ์ กำลังเหนื่อยล้า กรำศึกรอบด้านอย่างหนักหน่วงก็ตามที แต่ใช่ว่าสำหรับฝ่ายค้านเอง จะไม่เจอกับ “โจทย์ข้อยาก” ตามมาเช่นกัน เพราะหากในอีก 1เดือนข้างหน้า รัฐบาลสามารถเร่งคลี่คลายวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 สถานการณ์เริ่มกลับมาเป็น “บวก” ย่อมหมายความว่า “น้ำหนัก” ที่ฝ่ายค้านจะหยิบยกขึ้นมาถล่มจะไม่ถูกลดทอนลงไป ถึงกระนั้น ต้องยอมรับว่าสำหรับฝ่ายค้านแล้ว แม้ลึกๆจะยังคงเผชิญหน้ากับ “ความไม่เป็นเอกภาพ” เกิดความขัดแย้ง ร้าวลึกกันอยู่เป็นระยะๆ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย กับพรรคก้าวไกล อันเป็นแผลเรื้อรังมาจากประเด็นการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ที่เกิดรายการ “ซัดกันนัว” มาแล้ว จนถึงขั้นที่แถลงข่าวเปิดวิวาทะกันข้ามพรรค ล่าสุดยังปรากฎว่า พรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย ยังต้องมาคอยระแวดระวังกันเอง ในการประชุมคณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็พบว่า “เป้าหมาย” ของทั้งสองพรรคนั้นไปกันคนละทิศละทาง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย นั้นยอมสู้ตายเพื่อให้ได้มาซึ่งการเลือกตั้งแบบ “บัตร2ใบ” เพราะสูตรนี้เคยทำให้พรรคไทยรักไทย เอาชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเป็นรัฐบาลพรรคเดียวมาแล้ว และที่สำคัญไปกว่านั้น ยังน่าสนใจว่า มี “สัญญาณ” จาก “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ในฐานะ “เจ้าของพรรคตัวจริง” พูดผ่านคลับเฮาส์ ขอให้พี่น้องประชาชนช่วยเลือกพรรคเพื่อไทยให้ชนะพรรคพลังประชารัฐ เพื่อให้ตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จ รวมทั้งยังบอกชัดเจนว่า “ถนัดแบบบัตรสองใบ” ภายใต้ความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล ที่นับวันจะมองหน้ากันไม่ติดยังถูก “โจมตี” ด้วย “ข่าวลือ” ที่ตามมาหลอกหลอนไม่จบไม่สิ้น ว่าพรรคเพื่อไทย “สานไมตรี” กับพรรคพลังประชารัฐกันอย่างลับๆ ซึ่งแน่นอนว่าในการเจรจาพูดคุยทางการเมือง ย่อมไม่มีพรรคก้าวไกล แทรกอยู่ หมายความว่า ในความขัดแย้งจากการผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 แล้วยังถูกเชื่อมโยงด้วย “ข่าวลือ” ที่ทำให้ต่างฝ่าย ต่างไม่ไว้วางใจกันเอง อย่างที่เห็น ! ขณะเดียวกัน ยังมีรายงานความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเกิดขึ้นเป็นระยะๆว่า เวลานี้พรรคร่วมรัฐบาล พยายาม “ยื่นไมตรี” ให้กับฝ่ายค้าน เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่ “รัฐมนตรี” ของพรรคจะไม่มีชื่อถูกซักฟอกในรอบนี้ ไม่ว่า “ข้อตกลง” ที่ว่านั้นจะมาในรูปแบบใด จะเป็นการให้ความช่วยเหลือด้วยน้ำจิตน้ำใจจาก “พรรครัฐบาล” เอื้อเฟื้อไปยัง “ฝ่ายค้าน” บางพรรค บางกลุ่ม บางจังหวัด หรือไม่ แต่สิ่งเหล่านี้กำลังกลายเป็น “ชนวนเหตุ” ที่ยิ่งทำให้ “ระยะห่าง” ระหว่างสองพรรคฝ่ายค้านหลัก ยิ่งมากขึ้นทุกที การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามที่ฝ่ายค้านวางกรอบเอาไว้ว่าเมื่อยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในราวกลางเดือนส.ค.นี้แล้ว ก็คาดว่าจะได้รับการบรรจุเข้าสู่วาระและเริ่มเปิดฉากอภิปรายได้ภายในเดือนก.ย.นี้ ก่อนปิดสมัยประชุมสภาฯ และแม้ฝ่ายค้านจะรู้ดีว่าเสียงโหวตลงคะแนนไว้วางใจรัฐมนตรีนั้นถึงอย่างไร ฝ่ายรัฐบาลก็ต้องเป็นฝ่าย กุมชัยชนะในสังเวียนนี้ก็ตาม แต่อย่าลืมว่า “เป้าหมายหลัก” ที่แท้จริงของพรรคฝ่ายค้าน คือการใช้ศึกอภิปรายฯครั้งสุดท้าย รอบนี้ให้เกิดประโยชน์ทางการเมืองอย่างสูงที่สุด ต่างหาก ! โดยเฉพาะต้องไม่ลืมว่า แท้จริงแล้วหลายต่อหลายฝ่าย ต่างพากันประเมินว่า อายุรัฐบาลนั้นดูจะเป็นเรื่อง “ยาก” หากจะอยู่ “ครบเทอม” แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะเคยประกาศชัดเจน มาก่อนหน้านี้แล้วว่าจะเป็นรัฐบาลที่อยู่ครบเทอม โดยยังเวลาอีก 1 ปีครึ่งก็ตาม แต่อย่าลืมว่า ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลเป็นฝ่าย “ได้เปรียบ” ดึงกระแสความเชื่อมั่นจากประชาชนให้กลับมาอยู่ในมือได้แล้ว การตัดสินใจชนิดที่เรียกว่า “อะไรก็เกิดขึ้นได้” ย่อมเป็นไปได้เสมอ ดังนั้น ฝ่ายค้านเองจึงประเมินว่าพิธีกรรมที่ว่าด้วย การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งนี้จึงเหมือนเป็น “ครั้งสุดท้าย” ที่พวกเขาจะมีโอกาสทองที่จะได้ใช้ “สังเวียนสภาฯ” โจมตีพล.อ.ประยุทธ์ ให้บอบช้ำมากที่สุด โดยไม่ต้องคาดหวังว่า จะชนะเสียงโหวตในสภาฯ ด้วยซ้ำ ทว่า พรรคฝ่ายค้านจะเข้มแข็งมากพอหรือไม่ ที่จะเป็นฝ่ายเปิดฉาก “ถล่ม” ขุนบนกระดานอย่างพล.อ.ประยุทธ์ ให้บาดเจ็บ เพราะในเมื่อความเป็นจริงแล้ว “ศึกใน” ก็ยังรุมเร้า โจมตี “6พรรคฝ่ายค้าน” ด้วยกันเองจนสะบักสะบอม โดยที่ยังไม่ทันถึงวันอภิปรายฯด้วยซ้ำ !