วันที่ 12 ส.ค.64 นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ… แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 96 ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคภูมิใจไทย ระบุว่าการกระบวนพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกมธ.ขัดต่อหลักนิติธรรม เพราะได้นำหลักการที่ตกไปแล้วกลับมาแปรญัตติ ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของพรรค ก.ก. ว่า ในที่ประชุมกมธ. พรรคก.ก. อภิปรายไปในทิศทางเดียวกันกับพรรคภท. เพราะยืนยันว่า ไม่ควรตีความขยายตามอำเภอใจ นอกจากนี้กมธ.เสียงข้างมาก ยังแก้ไขกว้างเลย ไปถึงบทเฉพาะกาล โดยพรรคเพื่อไทย เสนอให้แก้ไขบทเฉพาะกาล และให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถออกข้อกำหนดในกรณีที่ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญออกไม่ทันใช้บังคับในการเลือกตั้ง เป็นการตีความข้อบังคับในเชิงแก้ไขอะไรก็ได้ พยายามโยงว่าทุกอย่างเกี่ยวกับเรื่องที่กำลังแก้ไข ทั้งที่ส่วนนี้เป็นเรื่องของสำนึกอัตวิสัยของบุคคลที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ที่จะต้องนึกถึงหลักนิติธรรม แต่ตอนนี้กำลังทำขัดหลักนิติธรรม ที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วางหลักการไว้ นายธีรัจชัย กล่าวต่อว่า ทั้งที่ในความเป็นจริงเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเพราะ กกต. เป็นฝ่ายปฏิบัติและบังคับใช้กฎหมาย ไม่สามารถออกกฎหมายและนำมาบังคับใช้เองได้ ถือว่าผิดหลักมาก นอกจากนี้กกต.ชุดนี้ ยังมีความเชื่อมโยงกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และที่ผ่านมากกต. ก็มีประเด็นที่ไม่สามารถตรวจสอบเรื่องบัตรเขย่ง และการคำนวณส.ส.ปัดเศษ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความไม่สบายใจกับทุกฝ่ายหากจะให้กกต. ออกกฎหมายและคุมการเลือกตั้งเอง ซึ่งเราก็ขัดค้านกันอย่างเต็มที่แต่เสียงโหวตส่วนใหญ่ก็เป็นไปตามนั้น และก็พยายามที่จะโต้แย้งเพื่อไม่ให้เกิดทางออก นอกจากนี้พรรคภูมิใจไทย ยังเห็นสอดคล้องกับพรรคก้าวไกล กรณีที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้เสนอญัตติขอแปรญัตติร่างที่ตัวเองเสนอมา เป็นการแปรญัตติแก้ร่างของตัวเอง สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า นายจุรินทร์ ยอมรับว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ไม่สมบูรณ์ และเป็นความพยายามที่จะดันเรื่องนี้ให้ได้ ซึ่งนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ก็ได้ขอสงวนคำแปรญัตตินี้ไว้ และจะมีการประชุมกันใหม่อีกครั้งในวันที่ 13 ส.ค.นี้ นายธีรัจชัย กล่าวต่อว่า บรรยากาศการประชุมกมธ. เป็นไปด้วยความลุกลี้ลุกลนมาก พรรคใหญ่สองพรรคจากทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านก็ค่อนข้างมีความเอื้ออาทรอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โยนกันไปโยนกันมา สอดคล้องไปในแนวเดียวกัน โดยเสนอหลักการที่ถูกตีตกไปแล้วในวาระ 1 มาใส่ในร่างที่กำลังแก้ไขอยู่ “บรรยากาศของพรรคใหญ่สองพรรคเป็นไปอย่างหนุงหนิงเหมือนคนเพิ่งจีบกันใหม่ๆ หากพรรคก้าวไกล เห็นต่างขึ้นมาก็จะถูกอภิปรายหักล้างและโหวตทันที ทำให้ผมได้เห็นสองเรื่องที่มีความยึดโยงกันคือ 1.การโหวตโยกงบ 1.6 หมื่นล้านบาทไปอยู่ในงบกลาง และ 2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีความกลมเกลียวกันจนน่าสงสัยและน่าติดตามว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร เป็นความสัมพันธ์ที่มีความเอื้ออาทรต่อกันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้พรรคก้าวไกลที่เป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านดูเหมือนเป็นคนนอกไปเลย”