วันที่ 11 สิงหาคม 2564 เวลา 13.00 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ศูนย์ราชการฯ อาคาร B ชั้น 4 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมาแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำกลุ่มก้าวหน้า ฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จฯ ตาม ม.14 แห่งพรบ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2560 กรณีโพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ว่า การชุมนุมในวันที่ 7 สิงหาที่ผ่านมา ประชาชนไปด้วยสองมือเปล่า มีเพียงความคิดสร้างสรรค์เป็นอาวุธนั้น
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ลงพื้นที่เพื่อสังเกตการณ์การชุมนุมทางการเมืองของเครือข่ายกลุ่มเยาวชนปลดแอก และกลุ่ม REDEM บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมแล้ว และมีข้อสรุปซึ่งได้ออกแถลงการณ์เมื่อเย็นวันที่ 9 ส.ค.ระบุไว้ชัดเจนว่า “มีผู้ชุมนุมบางส่วนได้ตระเตรียมและใช้อาวุธหรือสิ่งเทียมอาวุธในการตอบโต้กับเจ้าหน้าที่ อันไม่เป็นไปตามหลักการการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ จนทำให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ควบคุมการชุมนุมได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง”
การยืนยันของ กสม.เป็นพยานหลักฐานที่สำคัญ ที่สามารถนำชี้ได้ว่าการโพสต์ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ทวิตเตอร์ของคุณธนาธร เป็นข้อความที่ตรงกันข้ามกับข้อสรุปหรือคำแถลงการณ์ของ กสม. ซึ่งเจตนาของการโพสต์ข้อความดังกล่าว สังคมอาจทราบดีว่าผู้โพสต์หวังผลเช่นไร แต่ในเมื่อเป็นข้อความหรือการกระทำที่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นความผิด ก็ต้องว่ากันไปตามครรลองของกฎหมาย ซึ่งตาม พรบ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 แก้ไข พ.ศ.2560 มาตรา 14 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
เมื่อมีหลักฐานเป็นการยืนยันมาจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าการโพสต์ข้อความลงในสื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง จึงเป็นความผิดที่ไม่อาจปล่อยให้ผ่านไปได้