เมื่อวันที่ 10 ส.ค. นายธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) นางสาวรัชนก แสงเพ็ญจันทร์ ที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) และนางศุภจิต ศรีอริยวัฒน์ เลขานุการเอก (ฝ่ายเกษตร) สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโรม (สปษ.โรม) ได้ประชุมเตรียมการจัดการประชุมสมัชชาความร่วมมือทรัพยากรดินโลก (Global Soil Partnership: GSP PA) ครั้งที่ 9 ร่วมกับนาย Ronald Vargas ฝ่ายเลขานุการ GSP/FAO ซึ่งกำหนดจะจัดขึ้นในวันที่ 8-10 กันยายน 2564 โดยในการประชุมที่จะถึงนี้ นายธนวรรษ เทียนสิน ได้รับการเสนอชื่อจากประเทศสมาชิก และเป็นผู้แทนกลุ่มภูมิภาคเอเชีย ให้ทำหน้าที่ประธานสมัชชาความร่วมดินโลก (GSP) และจะทำหน้าที่ประธานในการประชุม GSP ครั้งที่ 9 ที่ผ่านมา รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่านระพีภัทร์ จันทร์ศรีวงศ์ เป็นคนไทยคนแรกที่เคยทำหน้าที่ประธานสมัชชาความร่วมมือดินโลก (Chairperson of GSP) และ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ท่านเบญจพร ชาครานนท์ เคยทำหน้าที่ประธานสมัชชาความร่วมมือทรัพยากรดินแห่งภูมิภาคเอเชีย (Chairperson of Asian Soil Partnership : ASP) ซึ่งเป็นบทบาทที่สำคัญของประเทศไทยในการขับเคลื่อนนโยบายด้านทรัพยากรดินในเวทีระดับโลก สหประชาชาติ และ FAO ได้กำหนดให้ วันที่ 5 ธันวาคม 2563 เป็น “วันดินโลก” (World Soil Day) ซึ่งเป็นวันที่ตั้งขึ้นเพื่อให้ทั่วโลกเห็นความสำคัญของทรัพยากรดิน ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ตามมติขององค์การสหประชาชาติ กำหนดให้ตรงกับวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของในหลวง รัชกาลที่ 9 เนื่องจากทรงมีพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและพัฒนาที่ดินในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน FAO ได้ร่วมกับรัฐบาลไทย โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมพัฒนาที่ดิน ได้จัดให้มีการมอบ “รางวัลภูมิพลวันดินโลก” หรือ “King Bhumibol World Soil Day Award” ให้แก่ประเทศ องค์กร หรือบุคคลที่มีผลงานที่ประจักษ์ดีเด่นด้านการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ การสร้างจิตสำนึกในการรักษาทรัพยากรดินและการจัดการดินเพื่อความมั่นคงอาหารอย่างยั่งยืนด้วย FAO และ กรมพัฒนาที่ดิน ได้จัดตั้ง "ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งเอเชีย หรือ Center of Excellence for Soil Research in Asia (CESRA)" เป็นศูนย์ที่ก่อตั้งขึ้น ในวันที่ 5 ธันวาคม 2561 เพื่อเป็นองค์กรที่รวบรวมข้อมูล องค์ความรู้ และงานวิจัยด้านดิน รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดความรู้ด้านการจัดการทรัพยากรกรดินอย่างยั่งยืนของภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้ FAO นำโครงการหมอดินอาสา ของกรมพัฒนาที่ดิน ไปขยายผลในระดับโลก ภายใต้โครงการ Global Soil Doctors Programme ด้วย สำหรับการประชุม Global Soil Partnership จะมีการนำเสนอแนวทางการยกระดับสมัชชาความร่วมมือดินโลก (GSP) ไปสู่การเป็นองค์กรถาวรภายใต้ธรรมนูญของ FAO หรือ การหาแนวทางอื่นในการกำหนดเป็น อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องทรัพยากรดิน (UN Convention) ซึ่งประเทศสมาชิกจะต้องร่วมพิจารณาและผลักดันในเวทีระดับโลกต่อไป ทั้งนี้ นายธนวรรษ เทียนสิน ในฐานะประธานคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก (The Committee on World Food Security: CFS) และประธาน GSP จะเข้าร่วมประชุมเสวนาหัวข้อ Global soil governance: Status and future perspectives ซึ่งจะจัดขึ้นวันที่ 25 สิงหาคม 2564 ในระหว่างการประชุม EuroSoil 2021-Connecting People and Soil เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและกลไกในการยกระดับสถานภาพของสมัชชาฯให้มีเสถียรภาพ สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้ สหภาพยุโรป รวมถึงประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญต่อการจัดการทรัพยากรดินซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารของโลกจัดเป็นวาระสำคัญของโลก และดินที่ดีจะเชื่อมโยงถึงสุขภาพของคน สัตว์ และพืช โดยสหภาพยุโรปกำลังริเริ่มแนวคิดการเสนอจัดตั้งอนุสัญญาเฉพาะด้านดิน เพิ่มจาก 3 พี่น้องอนุสัญญาสหประชาชาติ UNFCCC UNCCD และ CBD