วันนี้ (9 ส.ค.64 ) ที่ห้องประชุมบุญสิทธิ์ โรงพยาบาลยะลา อ.เมือง จ.ยะลา รพ.ยะลา ซึ่งเป็นสถานที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เป็นวันแรกแก่บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด่านหน้า นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา นพ.อินทร์ จันแดง ผู้อำนวยการ รพ.ยะลา ร่วมแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนในประเด็น การบริหารจัดการวัคซีนโควิด 19 จ.ยะลา เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและได้รับการฉีดวัคซีน ให้เร็วและมากที่สุด อย่างน้อยคลอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากกลุ่มเป้าหมาย (พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด) โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 (กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ) เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิต
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา กล่าวว่า ผลการดำเนินงานให้บริการวัคซีนโควิด 19 ณ วันที่ 8 ส.ค. 2564 จำนวน 123,811 ราย ร้อยละ 35.32 กลุ่มเป้าหมายรวมทุกกลุ่มจำนวน 338,640 ราย ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่จะต้องดำเนินการให้วัคซีนอย่างรวดเร็วทั่วถึง คือ กลุ่มผู้สูงอายุ 7 กลุ่มโรค ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง กลุ่มเป้าหมายนี้มี จำนวน 64,560 ราย ฉีดวัคซีนแล้ว 30,739 ราย ร้อยละ 47.06 อำเภอที่มีผลการดำเนินงานภาพรวมสูงสุด 3 อำเภอแรก คือ อำเภอเมืองยะลา ร้อยละ 62.44 อำเภอเบตง ร้อยละ 59.76 อำเภอธารโต ร้อยละ 26.66
“จะเห็นได้ว่าช่วงนี้ประชาชนมีความสนใจและตื่นตัวในการรับบริการวัคซีนมากขึ้น จากการสื่อสารประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องประกอบกับการได้รับการจัดสรรวัคซีนในจำนวนตามแผน รวดเร็วต่อเนื่องมากขึ้น อีกทั้งการปรับกลยุทธ์การจูงใจ การเข้าถึงการบริการวัคซีนได้สะดวก รวดเร็ว 1) ให้บริการฉีดทุกวันทั้งในสถานบริการ และนอกสถานบริการ เต็มศักยภาพ วันละประมาณ 5,000 ถึง 6,000 คนต่อวัน ทั้งในระบบนัด และ Walk In มีบริการเชิงรุก ตั้งจุดบริการในชุมชน และกลุ่มเปราะบางให้บริการที่บ้าน (vaccine mobile) และมีโปรโมชั่น ให้คนพากลุ่ม 608 ได้ฉีดวัคซีนพร้อมกันอีกด้วย 2) โครงการหมู่บ้าน/ชุมชนต้นแบบฉีดวัคซีนโควิด 19 (1ตำบล 1 หมู่บ้าน) อย่างน้อยได้รับวัคซีนร้อยละ 70 ขณะนี้มีเข้าร่วมโครงการแล้ว 57 หมู่บ้าน/ 1 ชุมชน (ฉีดวัคซีนแล้ว 8,641 ราย คิดเป็นร้อยละ 25) (ข้อมูล ณ 3 ส.ค. 64) 3) .กำหนดกลุ่มเป้าหมายให้บริการครอบคลุมทั่วถึงพื้นที่จังหวัดยะลาโดยลำดับความสำคัญ ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ /7โรคเรื้อรัง/ หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปหมู่บ้าน/ชุมชนต้นแบบ ประชาชนทั่วไป และองค์กรหมู่คณะ ซึ่งผู้รับบริการสามารถลงทะเบียนผ่าน App.ยะลาวัคซีน หรือ แจ้งความประสงค์ที่สถานบริการ / รพ.สต./ อสม. และเบอร์โทรสายด่วนวัคซีนของหน่วยบริการ” นพ.สสจ.ยะลา กล่าว
ด้านผู้อำนวยการรพ.ยะลากล่าวถึงประเภทวัคซีนที่ใช้บริการฉีดให้ชาวจังหวัดยะลา โดยในกลุ่ม 608 เป็น AstraZeneca เข็ม1 และ เข็ม2 ห่างกัน 12 สัปดาห์ กลุ่มประชาชนทั่วไป Sinovac เข็ม1 และ AstraZeneca เข็ม2 ห่างกัน 3 – 4 สัปดาห์ ในส่วนของวัคซีนซิโนฟาร์มพระราชทาน ในรอบที่ 2 จำนวน 32,000 โดส สำหรับเข็ม 1 และเข็ม 2 แก่กลุ่มเป้าหมาย 16,000 คน วัคซีนจะถึงจังหวัดยะลา ช่วงวันที่ 9 - 13 สิงหาคม 2564 และจะเริ่มให้บริการสัปดาห์ถัดไปตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2564 โดยมีจุดบริการฉีด 5 จุด ประกอบด้วย 1)อาคารศรีนิบงเทศบาลนครยะลา จำนวน 6,000 คน 2)โรงพยาบาลเบตง จำนวน 3,000 คน 3)โรงพยาบาลรามัน จำนวน 3,000 คน 4)โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพระราชยะหา จำนวน 2,000 คน 5)โรงพยาบาลบันนังสตา จำนวน 2,000 คน ประชาชนที่สามารถลงทะเบียนรับบริการได้ คือ 1) ผู้พิการ 2) ผู้ด้อยโอกาส/ชุมชนแออัด 3) ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 4) ผู้ป่วยติดเตียง/กลุ่มโรคเรื้อรัง 5 .ผู้นำศาสนา (พระ/โต๊ะอิหม่าม)
ในส่วนของการบริการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ในวันนี้ ณ อาคารศรีนิบง เป็นการให้บริการฉีดเข็ม 2 (วัคซีนพระราชทาน) และวัคซีนซิโนฟาร์ม (เข็ม 1) ของเทศบาลนครยะลา พร้อมกัน วัคซีน Pfizer สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ซึ่งปฏิบัติภารกิจดูแลผู้ป่วยโควิด19 ได้รับจัดสรรวัคซีนทั้งหมด 2,880 โดส โดย 2,640 โดส สำหรับกระตุ้นเข็ม3 อีก 240 โดส สำหรับบุคลากรที่ไม่เคยได้รับวัคซีนชนิดใดมาก่อน ซึ่งจะให้บริการบุคลากรกลุ่มดังกล่าวในโรงพยาบาล ทุกแห่ง ตั้งแต่วันนี้ (9 ส.ค. 2564) เป็นต้นไป