เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่รัฐสภา นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ พระครูอมรธรรมทัต เจ้าอาวาสวัดพันอ้น อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.สมคิด ภูสด พนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ แจ้งความดำเนินคดีกับ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ร่วมกับ ส.ส.และ ส.ว.ทุกคน ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ว่า เข้าใจถึงเจตนาดีของเจ้าอาวาสในการคุ้มครองพุทธศาสนา แต่ท่านคงเข้าใจผิดเรื่องอำนาจหน้าที่และการทำงานของประธานรัฐสภา ส่วนเรื่องการแจ้งความถือว่าเป็นสิทธิของท่าน เนื่องจากเจ้าอาวาสได้มีหนังสือถึงนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 เร่งรัดให้ฝ่ายนิติบัญญัติออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ…. เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2563 พร้อมส่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนั้นเข้ามาด้วย ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 80 วรรค 5 ประธานและรองประธานต้องวางตัวเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแลกิจการของสภา นพ.สุกิจ กล่าวว่า ดังนั้น การเสนอร่าง พ.ร.บ.ย่อมเป็นดุลยพินิจของฝ่ายบริหาร ส.ส.หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จะเห็นได้ว่าไม่เคยมีกรณีที่ประธานสภาฯ เสนอร่างกฎหมายเองเช่นเดียวกับ ส.ว. ซึ่ง นายศุภชัย ได้ส่งเรื่องพร้อมร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวที่เจ้าอาวาสเสนอมาให้คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 และติดตามเรื่องนี้เป็นระยะ จนวันที่ 16 ก.ค.2564 ประธาน กมธ.ศาสนาฯ ได้มีหนังสือแจ้งมายังนายศุภชัย ว่าร่าง พ.ร.บ.ที่เจ้าอาวาสเสนอ มีหลักการและเหตุผลสอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมพุทธศาสนิกชน ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ที่กมธ.ยกร่างเสร็จแล้ว และเสนอต่อสำนักนายกรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งทางกมธ.ได้มีหนังสือแจ้งไปยังเจ้าอาวาสทราบแล้วเมื่อวันที่ 15 ก.ค.64 ยืนยันว่า ในส่วนของประธานสภาฯ ไม่ว่าจะสมัยไหน ก็ไม่เคยเสนอกฎหมายด้วยตัวเอง เพราะต้องวางตัวเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่