เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 8 ส.ค.64 นายแพทย์นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครราชสีมา เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ 32 อำเภอ ของ จ.นครราชสีมา ว่า พบผู้ป่วยรายใหม่ 237 ราย สอบสวนโรคเป็นผู้ป่วยเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง 149 ราย ผู้ป่วยเดินทางกลับมารักษา 29 ราย และสัมผัสผู้ป่วย 59 ราย รวมยอดสะสม 10,353 ราย รักษาหาย 4,270 ราย ยังรักษาอยู่ 6,002 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 4 รายและเสียชีวิตสะสม 81 ราย ทั้งนี้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ได้การเฝ้าระวัง ควบคุมการแพร่ระบาดคลัสเตอร์โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ขนาดใหญ่ จำนวน 2 แห่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา ซึ่งมีลูกจ้างรวมกว่า 1.5 หมื่นคน ได้สร้างความตื่นตระหนกและหวาดกลัวให้แก่ชาวบ้าน โดยมีคลัสเตอร์โรงงาน ต.ท่าเยี่ยม อ.โชคชัย ล่าสุดพบผู้ป่วย 110 ราย เป็นลูกจ้าง 109 ราย แพร่เชื้อคนในครอบครัว 1 ราย ขณะนี้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลโชคชัย 8 ราย และในโรงงาน 102 ราย รวมทั้งกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในโรงงาน 743 ราย ภายใต้ควบคุมดูแลของ รพ.โชคชัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การสอบสวนโรคผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างแผนกบรรจุภัณฑ์ สาเหตุพบการปนเปื้อนบริเวณจุดสัมผัสที่นั่ง โต๊ะ เก้าอี้รับประทานอาหารรวมทั้งจุดเปลี่ยนรองเท้า ขณะนี้โรงงานได้ค้นหาเชิงรุกจำนวน 4,200 ราย จากจำนวนลูกจ้างทั้งหมด 8,235 คน โดยมีแผนดำเนินการตรวจให้ครบทั้งหมด เพื่อควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัดโดยเร็ว และคลัสเตอร์โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ คาร์กิลมีทส์ ต.กระโทก อ.โชคชัย สอบสวนโรคพบการเชื่อมโยง อ.ครบุรี อ.วังน้ำเขียว อ.ปักธงชัย อ.พระทองคำ เป็นทั้งลูกจ้างคนไทยและคนลาว ต่อมาโรงงานให้ลูกจ้าง 39 ราย ที่มีอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจเดินทางไปรักษาตัวตามโรงพยาบาลในพื้นที่ โดยไม่แจ้งให้รับทราบล่วงหน้า ทำให้เกิดปัญหาอุปสรรคในการรองรับผู้ป่วยและความเสี่ยงระบาดสู่ชุมชน ทำให้มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 16 ราย ขณะนี้โรงงานได้ค้นหาเชิงรุกในแผนกอื่นๆ จำนวน 4,238 ราย จากจำนวนทั้งหมด 6 พันคน พบเชื้อ 308 ราย ขณะนี้โรงงานได้ดำเนินมาตรการ Bubble and Seal จำกัดพื้นที่ให้ลูกจ้างอยู่ภายในที่พักอาศัยที่จัดหาให้และมีรถรับ-ส่ง ที่พักและโรงงาน เพื่อควบคุมไม่ให้พนักงานออกนอกพื้นที่อยู่ระหว่างกักตัวภายในหอพักและโรงแรมจำนวน 32 แห่ง ใน อ.ครบุรี อ.ปักธงชัย อ.เมือง จ.นครราชสีมา และการดูแลผู้ป่วยจะนำเข้ารักษาใน community isolation (CI) ของโรงงาน ซึ่งมีการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องวัดความดัน วัดออกซิเจน ยารักษาโรคทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทย ภายใต้การดูแลของ รพ.โชคชัย กรณีมีอาการฉุกเฉินจะนำส่ง รพ. เพื่อรักษาต่อไป ด้านนายพิสิษฐ์ พงษ์ศิริศุภกุล เลขาธิการมูลนิธิพุทธธรรม 31 นครราชสีมา กล่าวว่า อาสาสมัครหน่วยกู้ภัยฮุก.31 นครราชสีมา รวมทั้งบุคลากรรวม 15 ราย ได้รับผลกระทบจากคลัสเตอร์ของโรงงานทั้ง 2 แห่ง ต้องกักตัวในศูนย์กู้ภัยฮุกโคราช เนื่องจากมีบุคคลในครอบครัวซึ่งเป็นลูกจ้างโรงงานทราบภายหลังเป็นผู้ป่วยได้เดินทางมาพบปะอาสาสมัคร