เมื่อ​วันที่ 8 ส.ค. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ถึงแม้ขณะนี้จะเข้าสู่ฤดูฝนมาเป็นระยะเวลาเกือบ 3 เดือน แต่พี่น้องประชาชนในบางพื้นที่ยังคงประสบปัญหาปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร และปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อน อ่างเก็บน้ำต่างๆ ซึ่งมีความจำเป็นสำคัญที่จะเป็นน้ำต้นทุนให้กับพี่น้องประชาชน ในบางพื้นที่ยังอยู่ในเกณฑ์ปริมาณน้ำน้อย กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมกับ กองทัพอากาศและกองทัพบกที่สนับสนุนอากาศยานและกำลังพล เฝ้าติดตามสภาพอากาศเพื่อขึ้นบินปฏิบัติการทำฝนบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชน ซึ่งหากสภาพอากาศเข้าเงื่อนไขจะขึ้นบินปฏิบัติการทันที สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 5 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.ลำปาง อุทัยธานี นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ จำนวน 7 แห่ง นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงเช้าวันนี้ ผลการตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์ฝนหลวงทั่วประเทศ พบว่า พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง ในช่วงเช้านี้จึงวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 3 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่ หน่วยฯ จ.ขอนแก่น มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ขอนแก่น จ.เลย จ.หนองบัวลำภู หน่วยฯ จ.อุบลราชธานี มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ศรีสะเกษ และ หน่วยฯ จ.สงขลา มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.นครศรีธรรมราช และพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง โดยมีหน่วยปฏิบัติการจำนวน 2 หน่วยฯ ไม่มีการขึ้นบินปฏิบัติการ ได้แก่ หน่วยฯ จ.ตาก เจ้าหน้าที่งดเข้าสนามบินตั้งแต่วันที่ 6-10 ส.ค. 64 และกักตัวอยู่ในสถานที่ตั้งเพื่อเฝ้าระวัง สังเกตอาการ Covid-19 และ หน่วยฯ จ.พิษณุโลก เนื่องจากเจ้าหน้าที่สังเกตอาการผลข้างเคียงจากการเข้ารับการฉีดวัคซีน Covid-19 ​ อย่างไรก็ตามหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง อีก 8 หน่วยปฏิบัติการ จะยังคงติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด หากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงและเข้าเงื่อนไขในการปฏิบัติการฝนหลวง จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายทันที ทั้งนี้ พี่น้องเกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และแจ้งข้อมูลข้อมูลเชิงพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น ปริมาณฝน ความต้องการน้ำในการทำการเกษตร ซึ่งเป็นข้อมูลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจในการวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account: @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100