กรมประมง ปรับแผนการตรวจเรือประมงเข้า-ออก ของ PIPO ป้องกันการแพร่ระบาดโรค COVID-19 หลัง ศบค.ประกาศพื้นที่สีแดง 29 จังหวัด ยืนยันชาวประมงยังออกเรือได้ตามปกติ ​เมื่อวันที่ 6 ส.ค. นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid19) ที่ยังมีความรุนแรง เกิดการระบาดแบบกลุ่มก้อนขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศดังที่ทราบกันโดยทั่วไป ส่งผลให้ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อโควิด19 รายใหม่เป็นจำนวนมาก และมีจำนวนผู้ป่วยสะสมเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนกระทั่งรัฐบาลจำเป็นต้องจัดตั้งโรงพยาบาลสนามขึ้นหลายแห่งเพื่อรองรับสถานการณ์ ซึ่งทางรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน และได้เน้นย้ำให้ใช้มาตรการขั้นสูงสุดและเข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในวงกว้าง ดังนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 จึงมีมติเห็นชอบให้ออกประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรไทย (ชั่วคราว) ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2564 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 โดยศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ประกาศเพิ่มพื้นที่สีแดงเป็น 29 จังหวัด เพื่อคงความเข้มข้นของมาตรการในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และสอบสวนโรค รวมทั้งการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค เพื่อให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยด้านสุขภาพและชีวิตของประชาชนและสาธารณสุขของประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมประมงช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน เกษตรกร ชาวประมง ผู้ประกอบการ ในการดำเนินการตามกระบวนงานต่างๆ ตลอดห่วงโซ่การผลิต ภายใต้ความปลอดภัยของตัวเจ้าหน้าที่ด้วย เพื่อเป็นการป้องกันและลดผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งนายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง ได้เน้นย้ำ ให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ด่านหน้าของกรมประมงที่ต้องปฏิบัติงานเกี่ยวกับการตรวจสอบเรือประมงหน้าท่าเทียบเรือที่ปฏิบัติงานศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก (Port In Port Out Controlling Center : PIPO) ดำเนินการด้วยความเข้มแข็งและเข้มงวดในการปฏิบัติตนตามมาตรการสาธารณสุข และได้มีการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) กรมเจ้าท่า กรมการจัดหางาน และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อขับเคลื่อนการปฏิบัติในการตรวจสอบเรือประมงที่แจ้งเข้า - ออก หน้าท่าเทียบเรือ ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีกระบวนการดำเนินการ ใน 4 รูปแบบ ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ตามสถานการณ์การระบาดของโรคในแต่ละวัน ภายใต้ประกาศของคณะกรรมการโรคติดต่อของแต่ละจังหวัด โดยได้มีการบูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด้วย ดังนี้ ​รูปแบบที่ 1 : ในกรณีที่เป็นพื้นที่ความเสี่ยงน้อย ยังคงใช้ชุดสหวิชาชีพตรวจเท่าเดิม ประกอบด้วย กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมการจัดหางาน และล่าม โดยมีการตรวจปฏิบัติตามปกติ คือ เจ้าหน้าที่ลงไปตรวจเรือ ตรวจแรงงาน ณ หน้าท่าเทียบเรือ ​รูปแบบที่ 2 : ในกรณีที่เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงไม่รุนแรงมาก ยังมีการตรวจปฏิบัติตามปกติ คือ เจ้าหน้าที่ลงไปตรวจเรือ ตรวจแรงงาน ณ หน้าท่าเทียบเรือ แต่ลดจำนวนเจ้าหน้าที่ในชุดตรวจในพื้นที่ให้น้อยลง แต่ให้เจ้าหน้าที่ชุดสหวิชาชีพอยู่ประสานงาน ณ ศูนย์ PIPO ส่วนขั้นตอนการให้สัมภาษณ์ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และล่าม ให้ดำเนินการผ่านระบบวีดีโอทางไกล ​รูปแบบที่ 3 : ในกรณีที่เป็นพื้นที่ความเสี่ยงสูง ให้ตรวจเรือผ่านระบบวีดีโอทางไกล โดยเจ้าของเรือหรือผู้ที่เจ้าของเรือมอบหมายเป็นผู้ดำเนินการตามขั้นตอนที่เจ้าหน้าที่แจ้งให้แสดงหลักฐานผ่านทางวีดีโอทางไกล ​รูปแบบที่ 4 : ในกรณีที่เป็นพื้นที่ความเสี่ยงสูง และอยู่ในพื้นที่ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต หรือ กรณีเจ้าของเรือหรือผู้ที่เจ้าของเรือมอบหมาย มีข้อจำกัดในการใช้ระบบการสื่อสารผ่านทางวีดีโอทางไกล ให้ตรวจสอบเรือประมงหน้าท่าเทียบเรือ ด้วยแอพพลิเคชั่นไลน์ คือ เจ้าของเรือหรือผู้ที่เจ้าของเรือมอบหมาย เป็นผู้ดำเนินการตามขั้นตอนที่เจ้าหน้าที่แจ้งให้แสดงหลักฐานที่มีเวลาและพิกัดผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ โดยจะต้องถ่ายรูปขณะขนถ่าย ภาพเรือเข้าจอด ภาพเครื่องมือประมง ภาพห้องระวาง และสัตว์น้ำในระวางทุกระวาง ภาพแรงงานบนเรือประมงที่ชัดเจน ภาพใบสำคัญรับรองการตรวจเรือ อุปกรณ์ความปลอดภัยบนเรือ เช่น ถังดับเพลิง เสื้อชูชีพ พวงชูชีพ และภาพถ่ายอาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค เป็นต้น ซึ่งในภาพถ่ายดังกล่าวจะต้องมีการระบุวันที่ เวลา พิกัด และส่งให้เจ้าหน้าที่ PIPO ตรวจผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ (ใช้ GPS map camera หรือ Timestamp camera free ในการบันทึกภาพ) ​ทั้งนี้ การดำเนินแนวทางดังที่กล่าวมานั้น จะเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยลดการเดินทางมาติดต่อราชการ เพื่อลดความแออัด ลดความเสี่ยงการเกิดโรค ไม่ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ หรือละเมิดกฎหมายที่กำหนดเวลาให้ปฏิบัติ และที่สำคัญเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติในการตรวจสอบเรือประมงที่ต้องแจ้งเข้า-ออกท่าเทียบเรือประมง ภายใต้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 เพื่อป้องกันการทำการประมงผิดกฎหมายด้วย ซึ่งการตรวจเรือประมง ตามแนวทางปฏิบัติดังที่กล่าวมานี้ สามารถดำเนินการได้อย่างเรียบร้อยและเข้มงวดตามระเบียบ และพบข้อมูลว่าปัจจุบันนี้ เรือประมงสามารถออกทำการประมงตามปกติ โดยมีการแจ้งเข้าออก เดือนละประมาณ33,000 เที่ยว เจ้าหน้าที่สามารถตรวจเรือประมงตามแผน ได้ถึง 99.99 % ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนี้จะใช้เป็นแนวทางปฏิบัติจนกว่าสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จะลดระดับลงอยู่ในสภาวะที่ไม่เป็นอันตรายและไม่ขยายวงกว้างจนนำไปสู่การเกิดคลัสเตอร์การติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนแบบนี้ โดยกรมประมงได้แจ้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับพี่น้องชาวประมงแล้ว ซึ่งการดำเนินการในแนวทางการปฏิบัติดังที่กล่าวมานี้ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้พี่น้องชาวประมงยังคงออกเรือไปทำการประมงได้ตามปกติ ไม่กระทบต่อการประกอบอาชีพ ชาวประมงไม่ตกงาน โดยกรมประมงดำเนินการควบคู่ไปกับการต่ออายุหนังสือคนประจำเรือ (Seabook เล่มเหลือง) สำหรับแรงงานต่างด้าว ออกไปอีก 1 ปี เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานบนเรือประมงในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 ซึ่งขณะนี้ มีแรงงานต่างด้าวมาดำเนินการขอต่ออายุ Seabook เล่มเหลือง แล้วกว่า 32 % ซึ่งยังสามารถแจ้งความประสงค์ขอต่ออายุได้ไปจนถึง 30 กันยายน 2564นี้ สุดท้าย ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนก้าวพ้นสถานการณ์วิกฤตในครั้งนี้ไปได้อย่างปลอดภัย