เมื่อวันที่ 6 ส.ค.นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่ …) พ.ศ… แก้ไขมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง รัฐสภา ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอของนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ กรณีหากนำญัตติที่รัฐสภาตีตกในชั้นรับหลักการ (วาระ 1) กลับมาพิจารณาอีกครั้งในชั้นแปรญัตติว่าสามารถทำได้หรือไม่นั้น ว่า พรรค ก.ก.ยึดหลักให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติตัดสินใจเอง อำนาจตุลาการไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรม หรือศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องจัดการกันเองให้ได้ รัฐสภาจะต้องปฏิบัติตามหลักนิติธรรมคือมีความมั่นคงแน่นอนในกฎหมาย ทั้งการร่างและการบังคับใช้กฎหมาย กระบวนการร่างกฎหมายจะต้องมีความแน่นอน จะผันแปรไปตามเสียงข้างมากของแต่ละยุคไม่ได้ หรือตีความตามอำเภอใจไม่ได้
นายธีรัจชัยกล่าวว่า ในข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 114 ระบุว่า หลักการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นไปโดยชัดแจ้ง ซึ่งมีองค์ประกอบ 2 อย่าง คือ 1.จะแก้เรื่องอะไร และ 2.มาตราอะไร ประเด็นสำคัญคือร่างที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้เสนอต่อสภา ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่าแก้ไขระบบเลือกตั้ง และแก้อีก 8 มาตรา ส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เขียนไว้ว่าแก้มาตรา 83 และมาตรา 91 โดยไม่ได้ระบุว่าแก้ระบบเลือกตั้งทั้งหมด
นายธีรัจชัยกล่าวว่า เมื่อสภาตีตกร่างของพรรค พปชร.และพรรค พท.แล้ว นั่นหมายถึงว่ารัฐสภาไม่รับการแก้ไขระบบเลือกตั้งทั้งหมด แต่รับหลักการแก้ไขแค่ 2 มาตราของพรรค ปชป.เท่านั้น แต่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. ในฐานะประธาน กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ กลับเปิดให้มีการตีความโดยยกข้อบังคับที่ 124 ที่ระบุว่าการแปรญัตติเพิ่มมาตราขึ้นใหม่ หรือตัดทอน หรือแก้ไขมาตราเดิม ต้องไม่ขัดกับหลักการ แห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม “เว้นแต่การแก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่เกี่ยวเนื่องกับหลักการนั้น” นั่นคือพยายามนำข้อยกเว้นมาแก้หลักการ และให้แก้มาตราอื่นที่เกี่ยวเนื่องได้แม้จะไม่ได้ระบุมาในญัตติ กรณีนี้ถือว่าขัดกับหลักความมั่นคงแน่นอนของกฎหมายหรือไม่ เพราะจะแกว่งไปตามการตีความ แบบเสียงมากลากไป
“รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศจะต้องถูกร่างด้วยกระบวนการเช่นนี้ เพื่อสนองความต้องการของตัวเองหรือ นอกจากนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็จะไม่ได้ทำให้ระบบการเมืองของประเทศพัฒนาไปแต่อย่างใด เช่น สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คนยังมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งมีนายทุนและทหารอยู่ มามีส่วนในการกำหนดยุทธศาสตร์ทำให้การแก้ไข โควิด-19 และการจัดการวัคซีนล้มเหลว องค์กรอิสระ และศาลต่างๆ ก็มีความเชื่อมโยงกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเป็นอิสระจากการตรวจสอบ ทำให้ประชาชนรู้สึกถึงความไม่แน่นอนต่อการได้รับความยุติธรรม” นายธีรัจชัยกล่าว
นายธีรัจชัยกล่าวว่า หลักการที่รัฐสภาตีตกไปแล้วหมายความว่ารัฐสภาไม่เอาแล้ว แล้วจะนำเข้ามาสอดแทรกเป็นไส้ในได้อย่างไร การร่างกฎหมายต้องไม่ตีความตามอำเภอใจ หากเป็นไปตามที่นายไพบูลย์ต้องการ คาดว่าจะมีพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคที่ได้ประโยชน์ นอกจากนี้นายไพบูลย์ยังเร่งรัดและนัดประชุม กมธ.ให้แล้วเสร็จในวันที่ 13 สิงหาคมนี้ ตนคิดว่าจึงไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องในการจัดทำร่างกฎหมาย พรรค ก.ก. ยืนยันว่าเห็นด้วยกับระบบเลือกตั้งที่ใช้บัตรสองใบ ที่มีระบบการคำนวณที่สะท้อนต่อเสียงประชาชน ทุกพรรคได้ประโยชน์เท่ากัน ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว