หลังพบบางวัดเผาศพเกินศักยภาพไปมาก กทม.92 วัดเผาไปแล้ว 3,067 ศพ นนทบุรี 42 วัด เผาไปแล้ว 1,067 ศพ ปทุมธานี 55 วัด เผาไปแล้ว 222 ศพ จึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบเพื่อตรวจสอบวัดใกล้บ้าน พร้อมส่งข้อมูลให้สถานพยาบาล และการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อเป็นข้อมูลให้ญาติผู้เสียชีวิต กระจายการเผาศพไปยังวัดต่างๆ เพื่อลดภาระของเตาเผา/ ย้ำหลีกเลี่ยงการเปิดประตูเผาศพ เพื่อพลิกศพ เพราะอุณหภูมิเตาเผาลดลง การฟุ้งกระจายอาจเกิดขึ้นได้ 6 ส.ค.2564 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แถลงข่าวประเด็น ข้อปฏิบัติืฌาปนกิจผู้เสียชีสิตจากโควิด-19 ว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ กรมอนามัย ได้ร่วมกับกองวิศวกรการแพทย์และวิศวกรอาสา และสำนักงานพระพุทธศาสนา ตรวจสอบวัดต่างๆ ในพื้นที่ กทม. ปทุมธานี นนทบุรี ทั้งสิ้น 189 วัด โดยส่วนใหญ่ วัดมีศักยภาพเผาประมาณ 2-4 ศพ ต่อวัน โดยมีปัจจัยขึ้นอยู่กับชนิดของเตาเผา สรีระของผู้ป่วย อายุการใช้งานเตาเผา ซึ่งมีวัดในกทม.ถึง 92 แห่ง ที่ได้มีการเผาผู้เสียชีวิตจากโควิด ไปแล้ว 3,067 ศพ ซึ่งในสภาวะปกติเผาได้ 184 ศพ/วัน จ.นนทบุรี มีจำนวนวัดทั้งหมด 42 แห่ง เผาศพผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ไปแล้ว 1,067 ศพ สภาวะปกติเผาได้ 84 ศพ/วัน จ.ปทุมธานี มีจำนวนวัดทั้งหมด 55 แห่ง เผาศพผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ไปแล้ว 222 ศพ สภาวะปกติเผาได้ 110 ศพ/วัน นพ.ธเรศ กล่าวอีกว่า ปัญหาที่พบในขณะนี้ คือ บางวัดมีปริมาณการเผาศพที่มากเกินไป จึงได้พัฒนาระบบ GIS เพื่อตรวจสอบวัดใกล้บ้าน พร้อมส่งข้อมูลให้กับ สถานพยาบาล โรงพยาบาล และการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อเป็นข้อมูลให้ญาติผู้เสียชีวิต เพื่อกระจายการเผาศพไปยังวัดต่างๆ เพื่อลดภาระของเตาเผาและยืดอายุเตาเผา วัดที่มีปัญหาเมรุ และ เตาเผา ชำรุด กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จะเข้าไปช่วยดำเนินการร่วมกับสำนักพุทธศาสนา เบื้องต้นมีบริษัทเอกชน 7 บริษัท สามารถเข้าติดตั้งได้ภายใน 1 - 2 สัปดาห์ เฉลี่ยราคาอยู่ที่ 1,000,000 - 2,500,000 บาท ด้านนพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ส่วนใหญ่เตาเผาในพื้นที่ กทม. และ ปริมณฑลจะเป็นเตาเผา 2 หัวเผา อุณหภูมิ 760 องศาเซลเซียส ห้องเผาที่สองเป็นห้องเผาควันต้องใช้ความร้อนไม่น้อยกว่า 1,000 องศาสเซลเซีย เพื่อกำจัดสารที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่างๆ ซึ่งต้องเน้นย้ำว่า หลีกเลี่ยงการเปิดประตูเผาศพ เพื่อพลิกศพ แบบกรณีทั่วๆไป เนื่องจากทำให้ อุณหภูมิเตาเผาลดลง การฟุ้งกระจายอาจเกิดขึ้นได้ ส่วนขั้นตอนการเก็บอัฐิเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และควันจากการเผา ยืนยันว่า สามารถทำได้ เนื่องจากความร้อนในการเผาทำให้เชื้อโควิด-19 ตายทั้งหมดแล้ว ส่วนกรณี สัปเหร่อ หากศพของผู้เสียชีวิตโควิด-19 มาจากโรงพยาบาลซึ่งบรรจุในโลงและถุงซิปล็อค ตามกระบวนการทางการแพทย์แล้ว จึงไม่ต้องสัมผัสกับร่างผู้เสียชีวิต ก็ไม่จำเป็นสวมใส่ชุด PPE เพียงแต่หลังจากประกอบพิธกรรมเสร็จสิ้น ให้รีบชำระล้างร่ายกายให้สะอาด กรณีการฝังศพ จะไม่อนุญาตให้ญาติ หรือ ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เปิดถุงซิปหรือเข้าไปจัดการศพ เนื่องจากสารคัดหลั่งหรือของเหลวในตัวผู้ตายสามารถแพร่เชื้อได้