ย้ำขอให้ผู้ป่วยติดต่อรพ.ปลายทางก่อน เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษา ระบุเตียงทั่วประเทศยังว่างประมาณ 4 หมื่นเตียง แต่ห่วงเตียงผู้ป่วยสีแดงไม่พอ คาด 2 สัปดาห์-1เดือน คนไข้ที่ส่งกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนาถึงจุดพีค 5 ส.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงการบริหารจัดการนำผู้ติดเชื้อกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนาว่า ตั้งแต่ 1 ก.ค-4ส.ค.64 ได้มีการนำผู้ป่วยโควิดกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนาแล้ว 94,664 ราย โดยกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน โดยเฉพาะเขตสุขภาพที่ 9 จำนวน 17,293 ราย รองลงมาคือเขตสุขภาพที่ 8 จำนวน 13,761 ราย เขตสุขภาพที่ 7 จำนวน 13,022 ราย เขตสุขภาพที่ 6 จำนวน 8,691ราย และเขตสุขภาพที่ 10 จำนวน 9,821 ราย ส่วนที่เหลือก็จะกระจายออกไป ได้แก่ เขตสุขภาพที่ 1 ภาคเหนือตอนบน จำนวน 4,447 ราย ลงมาที่ เขตสุขภาพที่ 2 จำนวน 5,125 ราย ทั้งนี้ในระยะแรก ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะเดินทางด้วยตัวเองมีทั้งแจ้ง-ไม่แจ้ง จังหวัปลายทาง แต่เมื่อมีการเดินทางจำนวนมากก็มีการออกมาตรการ มีการจัดการให้คนกลับไปรักษาตัวที่บ้าน มีการกำหนดมาตรการต่างๆ จัดหารถให้ส่งกลับมารักษาตัวที่ภูมิลำเนา ยืนยันถึงวันนี้กระบวนการมาตรการต่างๆ ก็ยังมีอยู่ ดังนั้นขอเรียนพี่น้องประชาชนที่จะกลับภูมิลำเนา กรุณาติดต่อประสานงานเจ้าหน้าที่เพื่อที่จะดูแลก่อนการเดินทางกลับ ผ่านสายด่วน 1330 ต่อ 15 หรือสายด่วน 1669 นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า ขั้นตอนที่ผู้ที่ต้องการเดินทางกลับภูมิลำเนา มีขั้นตอนดังต่อไปนี้ 1.ต้องติดต่อภูมิลำเนาของท่านเองให้ได้ก่อน แล้วจังหวัดท่านจะมีมาตรการกระบวนการของตนเอง จัดหารถมารับกลับ ส่งกลับภูมิลำเนา ดังนั้นขอให้พี่น้องประชาชนติดต่อประสานงานภูมิลำเนาก่อน โดยเมื่อท่านเดินทางมาถึงจะได้มีเจ้าหน้าที่มารอรับที่จุดนัดหมาย เพื่อดูอาการว่ารุนแรงแค่ไหน แล้วจึงประเมินก่อนส่งเข้าทำการรักษาตามอาการหนักเบา สำหรับมาตรการใรการดูแลผู้ป่วย แบ่ง 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1.ผู้ป่วยสีเขียว อาการติดเชื้อน้อย ก็จะแยกไป รพ.สนาม ตอนนี้ทุกจังหวัดมี รพ.สนามกระจายอยู่ทุกจังหวัด ส่วนบางจังหวัดที่มีข้อจำกัดก็ไปทำ คอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น (Community Isolation) ส่วนโฮม ไอโซเลชั่น (Home Isolation) อาจมีปัญหา เพราะต้องให้เจ้าหน้าที่ประเมินว่าที่บ้านจะสามารถทำได้หรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องไปอยู่ คอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น ขณะผู้ป่วยบางส่วนก็อาจไปอยู่ฮอตพิเทล 2.กลุ่มสีเหลือง ก็มีการจัดรองรับผู้มีอาการป่วยแต่ไม่รุนแรง ก็จะให้อยู่อยู่ในโรงพยาบาล และ 3.กลุ่มผู้ป่วยสีแดง มีอาการป่วยหนัก ตรงนี้ก็ให้ไปอยู่ในศูนย์ รพ.เพื่อดูแลและรักษาต่อไป นพ.ธงชัย กล่าวยอมรับว่า รพ.ทุกจังหวัดในตอนนี้มีภาระเพิ่มมากขึ้น นอกจากส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยที่ รพ.บุษราคัม ก็ต้องดูแลผู้ป่วยในพื้นที่เองและดูแลคนที่กลับมาภูมิลำเนาเพื่อรักษาโควิด-19 ต่อ ส่วนข้อกังวลเรื่องเตียงผู้ป่วยในต่างจังหวัดจะไม่พอก็ได้มีการเตรียมการ เรามีเตียงกว่า 1.5 แสนเตียง ถูกใช้ไปกว่า 1.4 แสนเตียง ไม่นับพื้นที่ กทม. มีเตียงว่างอีก 4 หมื่นเตียง ตอนนี้ 12 เขตสุขภาพ หากเป็นผู้ป่วยสีเขียว หาเตียงยังไม่ยาก เพราะยังสามารถทำ รพ.สนามขยายเพิ่มได้ ส่วนเตียงสีเหลืองก็อาจยากขึ้น เราใช้ รพ.ชุมชนทั่วประเทศอีก 800 กว่าแห่งรองรับ คนไข้ในละแวกนั้นก็ไปใช้ รพ.ละแวกนั้นได้เลย ขณะเตียงผู้ป่วยสีแดง ยอมรับว่ายาก เพราะเป็นผู้ป่วยหนัก ต้องใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยหายใจ โชคดีช่วงปีที่แล้ว 2563 โควิด-19 ซาลงไปช่วงหนึ่ง รพ.หลายแห่งก็เลยมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นมา ตอนนี้อัตราครองเตียงอยู่ที่ 75% ขึ้นอยู่ว่าอยู่ในเขตสุขภาพไหน ทั้งนี้คิดว่าอีก 2 สัปดาห์-1 เดือน น่าเป็นช่วงพีกสูงสุดของคนไข้ที่ถูกส่งกลับไปภูมิลำเนา