เมื่อวันที่ 5 ก.ค.นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีฝนลดลง เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง หลายพื้นที่มีปริมาณฝนน้อยกว่า 10 มิลลิเมตร และแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30% มีจำนวน 15 แห่ง และแหล่งน้ำขนาดกลางอีก 96 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยประชาชนที่อยู่ในเขตพื้นที่ชลประทานสามารถประสานงานกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อบริหารจัดการน้ำร่วมกันให้มีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงต่อความเสียหายของผลผลิตของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการขอรับบริการฝนหลวง 674 แห่ง ครอบคลุม 49 จังหวัด 360 อำเภอ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีทั้งพื้นที่การเกษตรที่ต้องการน้ำและการเติมน้ำให้กับแหล่งน้ำ สอดคล้องกับภารกิจของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ที่บูรณาการร่วมกับกองทัพอากาศ และกองทัพบก ทั้ง 2 ภารกิจ คือ ภารกิจบรรเทาภัยแล้งในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร และภารกิจเติมน้ำต้นทุนให้กับลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ
สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 7 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.พะเยา ลำปาง นครราชสีมา ร้อยเอ็ด ยโสธร ฉะเชิงเทรา ประจวบคีรีขันธ์ สามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนภูมิพล เขื่อนศรีนครินทร์ และอ่างเก็บน้ำยางชุม
ในการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงเช้าวันนี้ ผลการตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์ฝนหลวงทั่วประเทศ พบว่า สภาพอากาศยังไม่เอื้อต่อการปฏิบัติการ เนื่องจากท้องฟ้ามีเมฆชั้นกลางชั้นสูงปกคลุม และความเร็วลมในระดับปฏิบัติการมีกำลังแรง อย่างไรก็ตามหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 13 หน่วย จะมีการติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด หากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงและเข้าเงื่อนไขในการปฏิบัติการฝนหลวง จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายทันที
พี่น้องเกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และแจ้งข้อมูลข้อมูลเชิงพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น ปริมาณฝน ความต้องการน้ำในการทำการเกษตร ซึ่งเป็นข้อมูลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจในการวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account: @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100