ยังคงอาละวาดอย่างหนักอย่างไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงเมื่อใด
สำหรับ เชื้อไวรัสโคโรนา-2019 หรือโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดในพื้นที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกในเวลานี้ ซึ่งทำให้มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมไปแล้วราว 196 ล้านคน ในจำนวนนี้ก็ถูกไวรัสโควิดปลิดชีพไปแล้วกว่า 4 ล้านคน
ท่ามกลางความวิตกกังวลว่า ทั้งจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อ และผู้ป่วยที่เสียชีวิต จะทะยานพุ่งสูงขึ้นไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อวิกฤติการแพร่ระบาดที่กระหน่ำซ้ำเติมจากปัญหาการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนเป็นสายพันธุ์ใหม่ อย่าง “สายพันธุ์เดลตา” ซึ่งพบการกลายพันธุ์ และระบาดเป็นครั้งแรกในประเทศอินเดีย ก่อนแพร่กระจายไปในพื้นที่กว่า 100 ประเทศ ณ ชั่วโมงนี้
ส่งผลให้บรรดาทางการของประเทศต่างๆ ต้องระดมปูพรมฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ให้แก่ประชาชนอย่างขนานใหญ่ เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ดังกล่าว
โดยหลายประเทศก็มีประชาชนฉีดวัคซีนครบ 2 โดส หรือ 2 เข็ม ตามจำนวนที่กำหนดของวัคซีนขนานนั้นๆ ไปบ้างแล้ว ซึ่งแม้ทางการยังฉีดวัคซีนครบทั้ง 2 โดส ให้แก่ประชากรให้ได้จำนวนร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมด ตามหลักการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แก่ประชาชนที่กำหนดไว้ก็ตาม แต่ทว่า นานาประเทศก็ได้เริ่มถวิลหาวางแผน “การฉีดวัคซีนเข็มที่ 3” แก่ประชาชนกันแล้ว เพื่อ “กระตุ้นภูมิคุ้มกัน” หรือ “บูสเตอร์ (Booster)” ป้องกันการติดเชื้อไวรัสมรณะสายพันธุ์นี้ ซึ่งมีทั้งการฉีดวัคซีนด้วยขนานเดียวกับที่ฉีดไปใน 2 เข็มแรก และคนละขนานกับวัคซีนที่ฉีดให้ไปก่อนหน้า หรือที่เรียกกันว่า “การฉีดวัคซีนแบบผสมผสาน” หรือที่เรียกกันจนฮิตติดปากว่า “การฉีดวัคซีนแบบไขว้” นั่นเอง
อาทิเช่น ฉีดวัคซีน 2 เข็มแรกด้วยขนานของแอสตราเซเนกา ส่วนเข็มที่ 3 ก็ใช้ขนานของไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา มากระตุ้นภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
ล่าสุด ที่ “จีนแผ่นดินใหญ่” เจ้าของฉายาแดน “มังกร” ประเทศที่พบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นแห่งแรก ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลเหอเป่ย ก็ได้เริ่มเล็งหาวัคซีนขนานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัคซีนขนานที่วิจัยพัฒนาโดยเหล่าชาติตะวันตก ซึ่งใช้เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนแบบ “เอ็มอาร์เอ็นเอ” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “เชื้อเป็น” มาฉีดเป็นวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อมากระตุ้นภูมิคุ้มกันแก่ประชาชนที่ได้รับวัคซีนขนาน “ซิโนแวค” และ “ซิโนฟาร์ม” ครบ 2 โดสไปแล้วก่อนหน้า
โดยมีรายงานว่า “จีนแผ่นดินใหญ่” ถือเป็นประเทศแรกๆ ของโลก ที่ระดมปูพรมฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ให้แก่ประชาชน ด้วยวัคซีนที่บรรดาบริษัทด้านเวชภัณฑ์ของพวกเขาวิจัยพัฒนาขึ้นมาขนานต่างๆ เช่น ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม และคังซิโน เป็นต้น ซึ่งการฉีดวัคซีนก็มีขึ้นเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว โดยประชาชนจำนวนไม่น้อย ก็ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส จากจำนวนวัคซีนที่ฉีดให้แก่ประชากรตามที่ “คณะกรรมการด้านสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “เอ็นเอชซี” ของทางการจีน ประกาศไปเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ได้ฉีดวัคซีนแก่ประชาชนไปแล้วกว่า 1 พันล้านโดส จากจำนวนประชากรทั้งสิ้นราว 1.4 พันล้านคน
ทั้งนี้ นับถึง ณ เวลานี้ จากการจรดเข็มวัคซีนเข็มแรก ก็กินระยะเวลานานกว่า 6 เดือนแล้ว ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันร่างกายในการต่อต้านเชื้อไวรัสโควิดลดลง จนความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่ายๆ ทำให้ทางการรัฐบาลปักกิ่ง ต้องพิจารณาหาวัคซีนมาฉีดเป็นเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรค หรือบูสเตอร์ ให้แก่ประชาชน
ตามรายงานของ “ไคซิน” นิตยสารด้านการเงินชื่อดัง ก็ระบุว่า ทางการจีนแผ่นดินใหญ่ กำลังพิจารณาถึงการใช้วัคซีนขนานที่วิจัยพัฒนาโดยบริษัทเวชภัณฑ์ของเหล่าชาติตะวันตก มาเป็นวัคซีนฉีดให้แก่ประชาชนเป็นเข็มที่ 3 หลังจากที่ใช้วัคซีนขนานซิโนแวค และซิโนฟาร์ม ฉีดให้แก่ประชาชนจนครบทั้ง 2 โดสแล้ว ซึ่งวัคซีนทั้ง 2 ขนานที่กล่าวมาแล้วนั้น เป็นวัคซีนแบบ “เชื้อตาย” อันเป็นกรรมวิธีแบบดั้งเดิม
โดยวัคซีนเข็มที่ 3 ที่ทางการจีนจะนำมาฉีดให้แก่ประชาชนนั้น ก็เป็นวัคซีนที่ผลิตโดยเทคโนโลยีแบบ “เอ็มอาร์เอ็นเอ” ที่กล่าวกันว่า มีประสิทธิภาพด้านการป้องกันโรคดีกว่าการใช้วัคซีนแบบเชื้อตาย
ทาง “ไคซิน” ก็ยังระบุด้วยว่า ทางการจีนได้เจรจาติดต่อกับ “ไบโอเอ็นเทค” บริษัทด้านเวชภัณฑ์ชื่อก้องโลก ณ เวลานี้ ในประเทศเยอรมนี เพื่อให้มาวิจัยพัฒนาวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีแบบเอ็มอาร์เอ็นเอแก่จีน โดยทางการปักกิ่ง ได้ส่ง “เซี่ยงไฮ้ ฝอซุน ฟาร์มาซูติคอล” หรือที่มักเรียกกันสั้นๆ ว่า “ฝอซุน ฟาร์มา” หนึ่งในบริษัทเวชภัณฑ์ชื่อดังของจีนแผ่นดินใหญ่ ในนครเซี่ยงไฮ้ มาร่วมวิจัยพัฒนากับ “ไบโอเอ็นเทค” เหมือนกับที่ “ไฟเซอร์” บริษัทเวชภัณฑ์ชื่อดังในสหรัฐฯ วิจัยพัฒนาวัคซีนแบบเอ็มอาร์เอ็นเอร่วมกับ “ไบโอเอ็นเทค” จนกลายเป็นวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิดที่เรียกกันจนฮิตติดปากว่า “วัคซีนไฟเซอร์”
ทั้งนี้ ปัจจุบันวัคซีนแบบเอ็มอาร์เอ็นเอ ที่วิจัยพัฒนาร่วมกันระหว่าง “ฝอซุน ฟาร์มา” กับ “ไบโอเอ็นเทค” อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาว่าจะอนุมัติใช้แบบฉุกเฉินหรือไม่
รายงานของนิตยสารไคซินข้างต้น มีขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากที่ทางการไทย และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นสองประเทศที่ใช้วัคซีนขนานซิโนแวค เป็นวัคซีนหลักสำหรับการฉีดให้แก่ประชาชน ประกาศว่า จะฉีดวัคซีนแบบผสมผสาน หรือฉีดวัคซีนไขว้ ระหว่างวัคซีนที่ผลิตจากประเทศจีน และวัคซีนที่ผลิตจากประเทศตะวันตก โดยของไทยเราก็ฉีดไขว้กับวัคซีนขนานแอสตราเซเนกา ที่วิจัยพัฒนาโดยบริษัทแอสตราเซเนกา ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ
ขณะที่ บรรดาผู้เชี่ยวชาญจากสำนักสถาบันต่างๆ เช่น ศูนย์นโยบายสุขภาพทั่วโลก ในสังกัดของศูนย์ศึกษาและยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ หรือซีเอสไอเอส รวมถึง “โรงเรียนการแพทย์ การสาธารณสุขจอห์น ฮ็อปกินส์ บลูมเบิร์ก” และศูนย์วิจัยโรคติดเชื้อไวรัสอุบัติใหม่ เป็นต้น ได้แสดงทรรศนะไปในทิศทางเดียวกันว่า เพราะการปรากฏโฉมของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา จนทำให้วัคซีนขนานต่างๆ หรือแม้กระทั่งวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอ ที่ว่ามีประสิทธิภาพสูง ก็ยังด้อยประสิทธิภาพลงไปถนัดใจ ยกตัวอย่าง เช่น การศึกษาติดตามการฉีดวัคซีนขนานไฟเซอร์ที่ประเทศอิสราเอล ซึ่งก่อนหน้านี้ยังมีประสิทธิภาพป้องกันโรคโควิด-19 สายพันธุ์ทั่วๆไปได้สูงถึงร้อยละ 95 แต่พอมาเจอกับสายพันธุ์เดลตา ปรากฏว่า ประสิทธิภาพลดลงไปอยู่ที่ร้อยละ 64 แล้วอย่างนี้วัคซีนเชื้อตายอย่างซิโนแวก ซิโนฟาร์ม จะเหลือประสิทธิภาพด้านการป้องกันโควิดสายพันธุ์เดลตาได้สักกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะขนาดโควิดสายพันธุ์ทั่วๆ ไป ตามการศึกษาติดตามที่บราซิล ก็อยู่ที่ร้อยละ 51 เท่านั้น ดังนั้น เมื่อมาเจอกับสายพันธุ์เดลตา ก็น่าจะเหลือต่ำกว่าร้อยละ 50 ลงไปอักโข ด้วยประการฉะนี้ จึงจำต้องเร่งหาวัคซีนขนานใหม่ มาต่อสู้กับโควิดเดลตา
อย่างไรก็ดี เหล่าผู้เชี่ยวชาญ ก็ระบุว่า ถึงแม้ว่าจีนต้องเร่งวัคซีนขนานใหม่ที่ผลิตโดยชาติตะวันตก แต่ก็ไม่ทำให้นโยบายการทูตวัคซีนของทางการปักกิ่งต้องระคายเคือง เพราะยังมีหลายชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มประเทศยากจนและรายได้ปานกลาง ยังต้องพึ่งพาวัคซีนขนานต่างๆ ที่ผลิตจากจีน แบบใช้ขัดตาทัพไปพลางๆ ก่อน