สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 ยืนยันยังเร่งหาอีก 2 ตู้สินค้าที่หล่นกลางทะเลจากทั้งหมด 10 ตู้ โดยให้ทางบริษัทเร่งเก็บกู้ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันหลังเกิดเหตุ พร้อมยกระดับมาตรฐานเรือสินค้าทุกลำก่อนออกจากท่าเรือเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอย นายวิวัธน์ ชิดเชิดวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 กำชับให้นายหิรัญวัตติ์ สืบกระพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสตูล ผ่านสื่อระบบทางไกล จัดชุดลงค้นหาตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ที่หล่นกลางทะเลให้ครบ 10 ตู้ โดยเร็วหลังเกิดพายุซัดจมหาย อาจส่งผลในด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางทะเลได้ โดยผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อระบบทางไกล ถึงเหตุการณ์เรือ MC EXPRESS 1 ลากจูงเรือ MCL PREMIER บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ (โดยด้านในบรรจุสินค้าเป็นไม้ยางพาราแปรรูป) โดยออกเดินทางจากท่าเรือกันตัง จังหวัดตรัง ไปยังท่าเรือปีนัง ประเทศมาเลเซีย ประสบคลื่นลมแรงตู้สินค้าตกหล่นลงในทะเลอันดามัน จังหวัดสตูล จำนวน 10 ตู้ บริเวณใกล้กับเกาะบุโหลนเล ตำบลปากน้ำ จังหวัดสตูล ที่คาดว่าตู้สินค้าที่ตกหล่นมีทิศทางเคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันออกเข้าหาฝั่งเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 เวลา 17.30 น นี้นั้นว่า โดยให้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสตูล ได้ออกประกาศ เรื่อง ให้ระมัดระวังการเดินเรือโดยหลีกเลี่ยงการเดินเรือผ่านบริเวณที่เกิดเหตุ ประกาศ ณ วันที่ 2 สิงหาคม 2564 พร้อมดำเนินการออกคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของเรือและบริษัทเจ้าของเรือ เข้าเร่งรัดดำเนินการเก็บกู้ตู้บรรทุกสินค้าที่ตกหล่นในทะเล โดยเรือ MCL PREMIER (BARGE) ของบริษัท อภิโลจิซทิคซ์ จำกัด จะทำการกู้ตู้สินค้าให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน พร้อมจัดทำเครื่องหมายแสดงอันตรายให้ผู้ที่เดินเรือผ่านบริเวณดังกล่าวสังเกตเห็นทั้งในเวลากลางวันและเวลากลางคืน พร้อมทั้งให้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสตูล ได้จัดชุดปฏิบัติการลงพื้นที่สำรวจตู้คอนเทนเนอร์ที่ตกหล่นในทะเลอันดามัน จังหวัดสตูล โดยใช้เรือเจ้าท่า 188 ออกลาดตระเวน ตรวจสอบและควบคุมกำกับความปลอดภัยทางน้ำ ได้รับการยืนยันแล้วว่าพบตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ จำนวน 8 ตู้ บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของ เกาะโกย และ บริเวณหน้าแหลมเต๊ะปัน และเกยหาดตำบลตันหยงโป โดยได้เร่งประสานให้ทางบริษัทฯ เร่งกู้คืน โดยยังเหลืออีก 2 ตู้ที่ยังเร่งดำเนินการค้นหา โดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 ,สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสตูล และสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาตรัง ได้ประชุมวางแผนปฏิบัติงาน พร้อมตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น และวางแนวทางการป้องกันควบคุมความเสี่ยงของเหตุการณ์ตู้ตอนเทนเนอร์หล่นลงในทะเลเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำสอง ด้วยการยกระดับคุมเข้มตรวจสอบทั้งหมดให้ปลอดภัยก่อนเดินเรือ ทั้งอุปกรณ์ ตู้สินค้า ระบบควบคุมติดตามเรือ เพื่อวิเคราะห์ก่อนอนุญาตให้เดินเรือ ในการสร้างความมั่นใจ ในการขนส่งทางน้ำชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยขอให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นในการขนส่งทางน้ำ