สำหรับโมเดลภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ได้กลายเป็นบทเรียนนำร่องไปสู่แนวทางการป้องกันโควิด-19 อย่างมีมาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูงสุด รวมถึงองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.ที่ได้ผนึกภาคีเครือข่าย 6 องค์กร ร่วมกันถอดบทเรียนการป้องกันโควิด-19 จากโมเดลดังกล่าว จสู่การต่อยอดในพื้นที่พิเศษและเมืองรอง สร้างจุดขายตอบไลฟ์สไตล์พฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่ปรับเปลี่ยน สอดรับยุคดิจิตัล ด้วยแอปพลิเคชั่น Tourism Digital Sandbox เครื่องมือบริหารมาตรฐานความปลอดภัยในแหล่งท่องเที่ยวกลไกความเชื่อมั่นด้านบริการนักท่องเที่ยวและประชาชน บริหารความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น โดย นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านการพัฒนาท่องเที่ยวยั่งยืน และ ผู้เชี่ยวชาญ 6 องค์กร ประกอบด้วย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเขตพื้นที่ภาคใต้ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินความยั่งยืนตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) สมาคมการตลาดท่องเที่ยวไทย มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ประชุมผ่านระบบ Facebook Live by DASTA Academy เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความคิดเห็น และสร้างกลไกการมีส่วนร่วมที่จะไปสู่แผนการบริหารจัดการท่องเที่ยวเพื่อรองรับการให้บริการท่องเที่ยววิถีใหม่ ต้อนรับฤดูกาลการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี 2564 ผ่านการบูรณาการทำงานร่วมกันทุกหน่วยงาน พัฒนาต่อยอด เพื่อการบริการที่มีประสิทธิภาพที่จะนำไปสู่การประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทของพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ ซึ่งจากกรณีศึกษา ของพื้นที่ภูเก็ต โดยการนำองค์ความรู้ในการบริหารจัดการด้านความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากนักท่องเที่ยว และประชาชนในระดับแหล่งท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้กลายเป็นโมเดลการบริหารจัดการแบบบูรณาการภายใต้กลไกของภาครัฐ ที่จะนำเทคโนโลยี ระบบดิจิตอล มาพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่น Tourism Digital Sandbox ในพื้นที่ของตนเอง ที่สอดคล้องกับมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดที่เป็นไปตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) เพื่อประสิทธิภาพในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวที่มีความเข้มแข็ง และสามารถพัฒนาเป็นเครื่องมือทางการตลาดให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการในพื้นที่ เป็นต้น เพื่อสร้างการรับรู้และฟื้นฟูความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย ใช้ดิจิตอลตอบรับนักท่องเที่ยว ด้าน ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวภายหลังจบสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นักวิชาการได้ วิเคราะห์ทางรอดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยยุคหลังโควิด ว่าจะต้องปรับตัวอย่างไรให้เข้าสถานการณ์ โดยได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการประเมินพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวหลังโควิด -19 ซึ่งพบว่าประเทศไทยจะต้องเตรียมแผนการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวของไทยใหม่ เพื่อให้ประเทศไทยกลับมาติดเมืองการท่องเที่ยว 1 ใน 5 ประเทศของโลกเหมือนเดิม ซึ่งผลจากงานวิจัย พบว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมแผนรองรับความเสี่ยงของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด -19 เพื่อให้กิจกรรมการท่องเที่ยวเป็นไปอย่างราบรื่น ภายใต้การท่องเที่ยววิถีใหม่ โดยฝั่งผู้ประกอบการ ชุมชน แหล่งท่องเที่ยว หรือเรียกว่ากลุ่มซัพพลายไซต์ จะต้องมีการพัฒนายกระดับการให้บริการ โดยให้ความสำคัญองค์ประกอบการขับเคลื่อน ด้วยหลัก Tourism Economy มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เพื่อความสะดวก ปลอดภัยและสุขอนามัย การมีส่วนร่วมในการพัฒนา การดูแลด้านผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การพัฒนาจ่ายเงินผ่านระบบดิจิทัล การทำธุรกรรมการเงินผ่านออนไลน์ และการสร้างความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ ขณะที่ในฝั่งนักท่องเที่ยวและนักเดินทาง หรือกลุ่มดีมานด์ไซต์ พบว่า ตลาดนักท่องเที่ยวที่น่าจับตามองหลังจากนี้ เมื่อโควิด-19 คลี่คลายแล้ว นักท่องเที่ยวจะให้ความสนใจ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ความสุข และความยั่งยืนมากขึ้น โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากเป็นกลุ่มวัยเกษียณ กลุ่มครอบครัว กลุ่มคนรุ่นใหมา ดังนั้นจึงต้องมีระบบสาธารณูปโภค ระบบอินเตอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพ และต้องขยายให้ครอบคลุมพื้นที่ท่องเที่ยวในเมืองรองมากขึ้น ถือเป็นการตอบโจทย์ ให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวนับจากนี้ไป