ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า นายวสันต์ สุขสุวรรณ เกษตรจังหวัดตรัง ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่กลุ่มอารักขาพืช ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองตรัง ติดตามผลการใชัเชื้อราไตรโคเดอร์มา ตามโครงการฟื้นฟูพื้นที่การเกษตรจากอุทกภัยโดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จากสถานการณ์ฝนตกหนักติดต่อกัน ระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน –วันที่ 3 ธันวาคม 2563 จากการติดตามพบว่า สามารถช่วยฟื้นฟูสภาพดินและช่วยการดูดซึมธาตุอาหาร ทั้งนี้ นายวสันต์ กล่าวต่อว่า เนื่องจาก เชื้อราไตรโคเดอร์มาเป็นเชื้อราชั้นสูงที่ดำรงชีวิตอยู่ในดิน อาศัยเศษซากพืช ซากสัตว์ และอินทรียวัตถุเป็นแหล่งอาหาร เจริญได้รวดเร็วบนอาหาร เชื้อราหลายชนิดสร้างเส้นใยสีขาวและผลิตส่วนขยายพันธุ์ที่เรียกว่า โคนิเดีย หรือ สปอร์ จำนวนมากรวมเป็นกลุ่มหนาแน่นจนเห็นเป็นสีเขียว เชื้อราไตรโคเดอร์มาเป็นศัตรู (ปฏิปักษ์) ต่อเชื้อราสาเหตุโรคพืชหลายชนิด โดยวิธีการเบียดเบียนหรือเป็นปรสิต และแข่งขันหรือแย่งใช้อาหารที่เชื้อโรคต้องการ "นอกจากนี้เชื้อราไตรโคเดอร์มายังสามารถผลิตปฏิชีวนสาร และสารพิษ ตลอดจนน้ำย่อยหรือเอนไซม์ สำหรับช่วยละลายผนังเส้นใยของเชื้อโรคพืช คุณสมบัติพิเศษของเชื้อราไตรโคเดอร์มาคือ สามารถช่วยละลายแร่ธาตุให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช จึงช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชและชักนำให้ต้นพืชมีความต้านทานต่อเชื้อโรคพืชทั้งเชื้อราและแบคทีเรียสาเหตุโรค" นายวสันต์ กล่าว