รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ออกตรวจเยี่ยมศูนย์พักคอย หรือ CI : Community Isolation ในพื้นที่จ.กาฬสินธุ์ เน้นย้ำการรักษาด้วยตำรับยาสมุนไพรไทย เป็นแพทย์ทางเลือกเพื่อก่อให้เกิด การมีส่วนร่วมรูปแบบชุมชนรักษาด้วยชุมชน ขณะที่ศูนย์พักคอย จุดวัดไตรภูมิ คณะสงฆ์ร่วมช่วยระบบรักษา บำบัดด้วยธรรมะ ที่ศูนย์พักคอย CI : Community Isolation อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ นายเลิศบุศย์ กองทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ตรวจเยี่ยมศูนย์พักคอย(กลาง) นางสาวแววตา นระทัด นายอำเภอสหัสขันธ์ นายสมบูรณ์ ไชยศรี สาธารณสุข อ.สหัขันธ์ พร้อมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้าพบพระครูสิริพัฒนนิเทศก์(ดร.) เจ้าอาวาสวัดไตรภูมิรองเจ้าคณะอำเภอสหัสขันธ์ ที่อนุเคราะห์ให้สถานที่วัดไตรภูมิเนื้อที่กว่า 10 ไร่ จัดตั้งเป็นศูนย์พักคอย หรือ CI : Community Isolation และหารือในการนำสมุนไพรไทยโดยภูมิปัญญาชาวบ้านเข้ามาช่วยรักษาผู้ป่วยในศูนย์พักคอย เพื่อให้เป็นรูปแบบของโรงพยาบาลสนามชุมชนรักษาโดยชุมชน จากนั้นได้เยี่ยมให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ ที่ปฏิบัติหน้าที่ภายในศูนย์ และกำลังฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปฏิบัติหน้าที่เฝ้าเวรยามตลอด 24 ชม. พระครูสิริพัฒนนิเทศก์(ดร.) กล่าวว่า CI : Community Isolation หรือศูนย์พักคอย อำเภอสหัสขันธ์ จุดวัดไตรูมิ ได้ดำเนินการโดยความร่วมมือระหว่าง อำเภอสหัสขันธ์ วัดไตรภูมิ และเทศบาลตำบลโนนบุรี รับลูกหลานคนสหัสขันธ์ ทั้งอำเภอที่เดินทางมาจาก 13 จังหวัด พื้นที่เสี่ยง กรณีมีมีผลตรวจยืนยัน รอประเมินอาการ 20 เตียง และผลตรวจ RT PCR แยกชายหญิง 29 เตียง และผู้ป่วยระดับเขียว 80 เตียง ทั้งหมด 129 เตียงเตรียมรองรับและส่งต่อ รพ.สนาม อ.สหัสขันธ์ และ รพ.สหัสขันธ์ ซึ่งทางวัดยังได้จัดพระภิกษุสงฆ์ที่สมัครใจร่วมปฏิบัติหน้าที่กับทุกฝ่ายทั้งด้านประชาสัมพันธ์ และรับส่งอาหารให้ผู้ป่วย ซึ่งร่วมกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ฝ่ายเวรยาม โดยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในการดูแลของปกครอง อ.สหัสขันธ์ ฝ่ายเจ้าหน้าที่แพทย์พยาบาล สำนักงานสาธารณสุขอ.สหัสขันธ์ และโรงพยาบาลสหัสขันธ์ โดยใช้ศาลาวัดที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยความเรียบง่าย ประหยัด และเหมาะสม เข้ากับสถานการณ์ความเดือดร้อนที่วัดต้องช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ ในช่วงค่ำจะเป็นการบำบัดรักษาผู้ป่วยด้วยธรรมะทั้งการสวดมนต์ภาวนานั่งสมาธิและรับฟังพระเทศนา นายเลิศบุศย์ กองทอง รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ศูนย์พักคอยหรือโรงพยาบาลสนามชุมชน ที่จัดตั้งขึ้นใน 18 อำเภอ ซึ่งแต่ละแห่งอยากให้มาศึกษาและทดลองทำน้ำสมุนไพรไทยรักษาผู้ป่วยโควิด ซึ่งชาวบ้านสามารถทำได้และวัสดุก็หาง่ายในชุมชน ซึ่งก็จะทำให้เกิดเป็นการดูแลผู้ป่วยโควิดโดยชุมชนที่จะเข้ามามีส่วนร่วม และชาวบ้านในชุมชนก็จะได้กินสมุนไพรไทยที่มีประโยชน์ด้วย ซึ่งการดึงชาวบ้านเข้ามายังจะเป็นการช่วยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจของการแพร่ระบาดโควิด 19 อย่างถูกต้อง ถูกวิธี คนที่ติดเชื้อโควิดสามารถรักษาหายได้ มีวิธีป้องกัน และไม่ควรสร้างให้เกิดภาวะสังคมปิดกั้นคนป่วยกับชุมชน