ครม.อนุมัติร่างกฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้พ้นโทษคดีอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง เพื่อป้องกันสังคม วันที่ 3 ส.ค.64 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ว่า ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ...ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ เพื่อเป็นการป้องกันสังคมและลดอัตราการกระทำความผิดซ้ำของผู้พ้นโทษผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง เช่น การฆาตกรรม การข่มขืน การกระทำความผิดทางเพศกับเด็ก ซึ่งกระทรวงยุติธรรมพบว่า ผู้กระทำผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง เมื่อพ้นโทษแล้ว จะกระทำความผิดซ้ำในระยะเวลา 3 ปี มากกว่าร้อยละ 50 จึงมีความจำเป็นต้องยกร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้น โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง ได้แก่ กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ กำหนดมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดเฉพาะราย การเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ การคุมขังภายหลังพ้นโทษ การคุมขังฉุกเฉิน และการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มีประวัติเป็นผู้กระทำความผิดเหตุการณ์ที่ใช้ความรุนแรง ซึ่งมีรายละเอียด อาทิ 1.กำหนดนิยาม (1)ความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง เช่น ความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส เป็นต้น และ(2)ผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง หมายความว่า ผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรงที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป 2.กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และอธิบดีกรมคุมประพฤติเป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายและทิศทางในการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง และกำหนดมาตรฐานการดำเนินงานต่างๆ ของพนักงานคุมประพฤติ 3.มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดเฉพาะราย คือ เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำเลย ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง ให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งให้ใช้มาตรการฟื้นฟูผู้กระทำความผิดเฉพาะรายก็ได้ 4.การเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ (supervision order) โดยก่อนที่กรมราชทัณฑ์จะปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดที่เป็นผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง ให้กรมคุมประพฤติจัดทำสำนวนการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษสำหรับนักโทษเด็ดขาด พร้อมทั้งเสนอความเห็นว่าควรจะเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษหรือไม่ แล้วเสนอพนักงานอัยการ ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้ศาลสั่งให้มีการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ 5.การคุมขังฉุกเฉิน (emergency detention order) ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ถูกเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ แสดงพฤติการณ์ใกล้ที่จะกระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง และไม่มีมาตรการอื่นใดที่ยับยั้งได้ ให้พนักงานคุมประพฤติหรือพนักงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบร้องขอต่อศาล เพื่อออกคำสั่งคุมขังฉุกเฉิน 6.การพิจารณาปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มีประวัติเป็นผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง ให้ศาลพิจารณารายงาน การสืบเสาะและพินิจ รายงานผลการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดเฉพาะราย และสำนวนการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษประกอบการพิจารณาด้วย