นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 ยกเลิกสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine: SQ) ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นมา จึงมอบหมายกรมการจัดหางานจัดเตรียมสถานที่กักกันสำหรับแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากการทำงานในต่างประเทศ โดยเชิญชวนสถานประกอบการธุรกิจโรงแรมที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเป็นสถานที่กักกันทางเลือก (Alternative Quarantine: AQ) จากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีสถานประกอบการที่สนใจเสนออัตราค่าใช้จ่ายสำหรับการบริการแบบครบวงจร ในราคาพิเศษสำหรับแรงงานไทย จำนวน 87 แห่ง หลังพิจารณาจากอัตราค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมและคุ้มค่าสำหรับแรงงานแล้ว คณะทำงานได้คัดเลือกสถานประกอบการธุรกิจโรงแรมเข้าร่วมเป็นสถานที่กักกันทางเลือก (AQ) ทั้งสิ้นจำนวน 21 แห่ง โดยมีให้เลือกทั้งแบบห้องพักเดี่ยว และห้องพักคู่ มีค่าใช้จ่ายสำหรับการบริการแบบครบวงจรตลอดระยะเวลาการกักตัว 14 วัน สำหรับห้องพักเดี่ยว 20,000 - 24,000 บาท/ห้อง และห้องพักคู่ 32,450 - 47,800 บาท/ห้อง ขึ้นอยู่กับโรงแรมที่ผู้ใช้บริการสมัครใจเลือก ซึ่งนอกจากช่วยให้แรงงานไทยประหยัดค่าใช้จ่าย ทั้งได้ใช้บริการสถานที่กักกันที่มีมาตรฐานการป้องกันและควบคุมโรคแล้ว ค่าใช้จ่ายที่แรงงานจ่ายยังสร้างรายได้ให้สถานประกอบการธุรกิจโรงแรมที่ประสบปัญหาจากสถานการณ์โควิดไปพร้อมกัน
"ข้อมูลจากกรมการจัดหางานพบว่า เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แรงงานไทยในต่างประเทศส่งรายได้กลับประเทศ ผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทย จำนวน 16,662 ล้านบาท หากรวมยอดสะสมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (ต.ค. 63 - มิ.ย. 64) มีรายได้ที่ส่งกลับมาทั้งสิ้น จำนวน 134,409 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ต้องให้ความสำคัญ ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน กำชับกระทรวงแรงงาน ดูแลให้คนไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เพื่อได้รับสวัสดิการ และการปฏิบัติตามสิทธิที่พึงมี"
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า การจองสถานที่กักกันทางเลือก (Alternative Quarantine: AQ) สำหรับแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากการทำงานในต่างประเทศ จะต้องแนบสำเนาแบบรายการการเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร (แบบจง. 12) หรือสำเนาหลักฐานรอยตราประทับของพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจคนหางานที่แสดงว่าแรงงานไทยนั้นได้แจ้งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กรณีแรงงานไทยไม่มีเอกสารหรือหลักฐานดังกล่าว ให้ติดต่อขอรับหนังสือรับรองการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ณ สำนักงานแรงงานไทย สถานเอกอัครราชทูตไทย หรือสถานกงสุลไทยที่ประจำอยู่ในประเทศที่แรงงานนั้นทำงานอยู่ โดยแรงงานไทยเป็นผู้ดำเนินการจองสถานที่กักกันและชำระค่าใช้จ่ายเต็มจำนวนแก่สถานประกอบการจนแล้วเสร็จก่อนเดินทางกลับ เพื่อนำเอกสารการจองห้องพักประกอบการยื่นขอใบ Certificate of entry: COE เพื่อเข้าราชอาณาจักรกับสถานเอกอัครราชทูตในประเทศนั้นๆ ซึ่งหากแรงงานไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง สามารถติดต่อสำนักงานแรงงานในต่างประเทศหรือสถานเอกอัครราชทูตในประเทศนั้นๆ ให้ช่วยดำเนินการ หรือประสานกับเจ้าหน้าที่ของกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศเพื่อติดต่อญาติในประเทศไทยให้ดำเนินการได้
"ปัจจุบันสถานประกอบการธุรกิจโรงแรม จำนวน 21 แห่งที่เข้าร่วมเป็นสถานที่กักกันทางเลือก (AQ) มีห้องพักเพื่อให้บริการทั้งสิ้น 3,546 ห้อง รองรับผู้ใช้บริการสูงสุด 5,614 คน แบ่งเป็นห้องพักเดี่ยว จำนวน 1,478 ห้อง และห้องพักคู่ 2,068 ห้อง อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ โรงแรม ไอบิส สไตล์ กรุงเทพ ข้าวสาร เวียงใต้ โรงแรม บางกอก พาเลซ โรงแรม เอวาน่า แกรนด์ แอนด์ คอนเวนชั่น เซนเตอร์ โรงแรม แอสพิรา สกาย สุขุมวิท 1 โรงแรม อัญญา นานา แอท สุขุมวิท โรงแรม รอแยล รัตนโกสินทร์ และโรงแรม เมเปิล พื้นที่จังหวัดนนทบุรี จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โรงแรม ลักซอร์ และโรงแรม เดอะ เล็คกาชี พื้นที่จังหวัดชลบุรี จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ โรงแรม ทรอปิคาน่า พัทยา โรงแรม แกรนด์ เบลลา พัทยา โรงแรม โฮเทล เจ เรสสิเด้นซ์ โรงแรม เจ โฮเทล พัทยา และโรงแรม เจ อินสไปร์ พัทยา พื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ โรงแรม เดอะโขทัย ลัคซูรี่ ดีไซน์ โรงแรม เอ็นวายซิตี้ โรงแรม โอทู ลักซ์ชัวรี่ โรงแรม เอชไฟว์ ลักซ์ซูรี่ โรงแรม โซ บูทิค โรงแรม เดอ โทรจันทร์ และ โรงแรม เดอะกรีนวิว สำหรับสถานประกอบการโรงแรมที่ต้องการเข้าร่วมเป็นสถานที่กักกันสำหรับแรงงานไทย ยังสามารถยื่นแจ้งข้อเสนอต่อกรมการจัดหางานได้ โดยคณะทำงานฯ จะพิจารณาความเหมาะสมและประกาศเพิ่มเติมต่อไป"