วันที่ 28 ก.ค.64 รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า
" ยิ่งนานวันยิ่งไม่แน่ใจว่า ระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตย แบบรัฐสภา เป็นระบอบการปกครองที่เหมาะสมกับประเทศไทย
เมื่อมีการชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลทักษิณ ประท้วงขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพื่อนสนิทของผมคนหนึ่ง ซึ่งเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่มีชื่อเสียงมาก มีความเห็นว่า การขับไล่รัฐบาลออกไป คนที่มาใหม่ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเลวร้ายพอกัน ดังนั้นหากจะประท้วงควรประท้วงสิ่งที่รัฐบาลทำไม่ถูกต้องเป็นเรื่องๆไป เช่นการประท้วงการผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่งหรือฉบับสุดซอย เป็นสิ่งที่ควรกระทำ และจะเห็นว่ามีมวลชนออกมาร่วมชุมนุมเป็นหลักล้าน แต่เมื่อรัฐบาลยอมถอย ก็ควรปล่อยให้เขาบริหารประเทศต่อไป เพราะเขาได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนมา ให้ประชาชนได้เรียนรู้เอง ในที่สุดในการเลือกตั้งครั้งต่อๆไป ประชาชนก็จะเลือกแต่คนดีๆเข้าสภา
หลักการข้างต้น ฟังดูก็น่าจะเป็นหลักการที่ถูกต้อง แต่เมื่อคิดว่า ประเทศไทยมีการปกครองแบบประชาธิปไตยครั้งแรกตั้งแต่ปี 2475 แม้จะมีการยึดอำนาจกันไปมา และมีปกครองแบบเผด็จการหลายยุคหลายสมัย แต่เวลา 89 ปีก็เป็นเวลาที่นานพอที่ประชาชนจะเกิดการเรียนรู้ในทางการเมืองได้ หากจะบอกว่า สาเหตุของปัญหาอยู่ที่การเข้าถึงข้อมูลของผู้ที่อยู่ในชนบท ปัจจุบัน อินเตอร์เน็ตมีให้ใช้ค่อนข้างทั่วถึง อุปกรณ์ราคาไม่แพง คนที่ใช้เทคโนโลยีเป็นทั้งในเมืองและในชนบท สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ไม่ยาก
ในทางกลับกัน ความไม่ยากของการเข้าถึงข้อมูล เช่นใน social media กลับเป็นช่องทางที่ได้ผลของการสร้างข่าวเท็จ ปั่นกระแส สร้างภาพ และครอบงำความคิด ความเชื่อ เพื่อผลทางการเมือง กลุ่มการเมืองที่สามารถใช้ social media ได้ดี จึงสามารถครอบงำความคิด สร้างแนวร่วม กระทั่งสาวก ที่มีความภักดี(loyal)อย่างหัวปักหัวปำได้ไม่ยากเช่นกัน
เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะต้องรออีกกี่ปี ประชาชาชนคนไทยจึงจะเรียนรู้ รู้ทัน และเลือกแต่คนดีเข้าสภา เพื่อประเทศเราจะได้มีนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนเก่งจริง ดีจริง และมีคณะรัฐมนตรีที่ดี ทำงานเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง
ขอบอกว่า ตราบใดระบบการเมืองยังเป็นดังเช่นที่เป็นอยู่ ปรากฏการณ์ข้างต้นเกิดขึ้นได้ยาก กระทั่งเป็นไปไม่ได้
สาเหตุเป็นเพราะตัวคนไทยเราเอง ไม่ใช่ใครที่ไหน คนไทยเราเวลาจะตัดสินใจลงคะแนนเลือกตั้ง ไม่ได้ตัดสินใจเลือกคนเก่งจริง คนดีจริง แต่จะเลือกคนที่เป็นพรรคพวก เป็นฝ่ายเดียวกับตน หรือคนที่เข้ามาแล้วเป็นประโยชน์ต่อตัวเองเป็นอันดับแรก ชุมชนตัวเอง จังหวัดตัวเอง เป็นลำดับถัดมา และประเทศชาติโดยรวม เป็นลำดับสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งในระดับไหน ล้วนเป็นเช่นนี้ ด้วยเหตุนี้จึงยากยิ่งที่จะทำให้คนดีจริง เก่งจริง อย่าว่าแต่ได้รับเลือกตั้ง แต่แค่ตัดสินใจเข้าสู่การเมือง ก็มีน้อยกว่าน้อย
ลองดูตัวอย่างการเมืองในระดับมหาวิทยาลัยของรัฐ การตั้งอธิการบดี คณบดี และตำแหน่งที่เทียบเท่า มักใช้วิธีการที่จะขอเรียกว่า "กึ่งเลือกตั้ง" นั่นคือใช้วิธีสรรหาโดยการซาวเสียงจากบุคลากรทั้งหมด รวมทั้งนิสิต นักศึกษา หรือบางแห่งใช้วิธีให้บุคลากรจากทุกหน่วยงานให้เสนอชื่อผู้เหมาะสม แล้วนับเสียงที่ได้รับการเสนอชื่อของแต่ละคน จากนั้นคณะกรรมการสรรหา ก็จะให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อแถลงแนวทางการบริหารมหาวิทยาลัยต่อประชาคม สุดท้ายกรรมการสรรหาจะคัดกรองผู้เหมาะสมไม่เกิน 3 คน เพื่อเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยพิจารณาเป็นขั้นสุดท้าย ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ หรือมีคะแนนเสียงมากที่สุด แม้ไม่ใช่ทุกคน แต่ส่วนใหญ่จะได้รับการแต่งตั้งจากสภามหาวิทยาลัย
ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่จะมีโอกาสเข้าสู่กระบวนการสรรหา จึงต้องได้รับการเสนอชื่อ หรือมีคะแนนจากการซาวเสียงมากพอ ทำให้มีการหาเสียงกันด้วยวิธีการต่างๆ ต้องมีหัวคะแนนไปขอให้เสนอชื่อตัวเองไม่เว้นแม้แต่การใช้วิชามาร เช่น การวางตัวให้คนของตัวเองได้รับเลือกเป็นกรรมการสรรหา ไปจนถึงออกบัตรสนเท่ห์โจมตีคู่แข่งด้วยข้อมูลจริงและเท็จ เพื่อให้ตัวเองได้รับการเสนอชื่อ ก็มีมาแล้ว
ด้วยระบบการสรรหา ที่บางทีอาจเรียกว่าเป็นวิธีการประชาธิปไตยเช่นนี้ ผู้ที่มีความสามารถสูง และเป็นคนดี แต่ไม่ต้องการเล่นการเมืองน้ำเน่า จึงไม่มีโอกาสแม้แต่จะเข้าสู่กระบวนการสรรหา อย่าว่าแต่ได้รับเลือก นี่คือความมจริงของการเมืองในมหาวิทยาลัยของรัฐ
ในการเมืองระดับประเทศ ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทน ประชาชนเลือกผู้แทน ผู้แทนไปเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีวิธีคิด(mind set)ว่า นายกรัฐมนตรีต้องยึดโยงกับประชาชน จึงต้องเลือกมาจากผู้ที่เป็น ส.ส. รัฐมนตรีก็ควรต้องเลือกมาจาก ส.ส. จึงจะเรียกว่า เป็นประชาธิปไตย
เมื่อวิธีคิดในการเลือกผู้แทนของคนไทยเราเป็นเช่นข้างต้น กล่าวคือเอาพวกพ้อง หรือผลประโยชน์ของตนเองมาก่อนส่วนรวม พรรคการเมืองหากต้องการเสียงข้างมากเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ก็จะต้องรวบรวมคนที่มีโอกาสจะได้เป็นส.ส.มากที่สุด ไม่ใช่คนที่ดีที่สุดเข้าพรรค คนที่จะมีโอกาสเป็น ส.ส.มากที่ก็คือผู้ที่เคยได้รับเลือกเป็น ส.ส.มาแล้ว มีฐานเสียงอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอิทธิพลของแต่ละจังหวัด เมื่อเข้าพรรคก็จะไม่ใช่มาคนเดียว แต่จะมาเป็นกลุ่ม และจะกลายเป็นกลุ่มย่อยๆ ที่เรียกกันว่ามุ้งเล็กมุ้งใหญ่ภายในพรรคที่เข้าสังกัด
เมื่อ ส.ส.เข้าไปอยู่ในสภาก็จะมีบทบาทในการผ่านหรือไม่ผ่านร่างกฎหมายต่างๆที่สำคัญ เช่นพ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี และกฎหมายอื่นๆทั้งที่สำคัญ และไม่สำคัญ การผ่านร่างกฎหมายเพื่อนำไปเสนอโปรดเกล้าฯเพื่อนำไปบังคับใช้ จำเป็นต้องอาศัยเสียงข้างมากในสภา หากกฎหมายที่สำคัญไม่ผ่าน รัฐบาลถ้าไม่ลาออกก็ต้องประกาศยุบสภา อันเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี
กฎหมายแต่ละฉบับจะผ่านหรือไม่ผ่าน ไม่ใช่อยู่ที่การร่างกฎหมายกระทำด้วยความพิถีพิถันหรือไม่ หรือกฎหมายฉบับนั้นเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่า ส.ส.ในสภาจะยกมือผ่านให้หรือไม่ เช่นเดียวกัน ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลโดยพรรคฝ่ายค้าน รัฐบาลจะได้รับความไว้วางใจหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ว่า รัฐบาลบริหารประเทศหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่า ส.ส.ในสภาจะยกมือให้ไว้วางใจหรือไม่ และไม่ว่ารัฐบาลจะบริหารประเทศได้ดีเพียงใด พรรคฝ่ายค้านก็จะให้ ส.ส.ทุกคนยกมือไม่ไว้วางใจ เพื่อคว่ำรัฐบาลให้ได้เสมอ การกระทำเช่นนี้ ในระบบการเมืองไทย ดูเหมือนจะเป็นประเพณีปฏิบัติไปแล้ว
ด้วยเหตุนี้ พรรคที่เข้าร่วมรัฐบาล และมุ้งต่างๆภายในพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค จึงมีอำนาจต่อรอง ที่จะขอโควต้าให้หัวหน้ามุ้ง และสมาชิกในมุ้งเป็นรัฐมนตรี ดูเหมือนว่าตำแหน่งรัฐมนตรี หากไม่ใช่นายกรัฐมนตรี จะเป็นยอดปรารถนาของนักการเมืองทุกคน ยิ่งตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงที่จัดว่าเป็นเกรด A ยิ่งแย่งกันอย่างน่าเกลียด โดยไม่ได้มองดูความสามารถตัวเองเลย ที่ร้ายกว่านั้น เมื่อตัวเองเป็นรัฐมนตรีไม่ได้ด้วยเหตุผลบางประการ เช่น มีคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ แทนที่จะมองหาคนที่มีความสามารถเหมาะสม กลับนำโควต้าไปยกให้ภรรยาบ้าง สามีบ้าง พี่บ้าง น้องบ้าง
นี่คือการเมืองไทย กรุณาติดตามตอนต่อไป"