นางบงกช บวรฤกษ์ นายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน(Thaifa) เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 14.00 น.ของวันที่ 16 พ.ย.2560 ที่ผ่านมา คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมทีมงานได้แก่ คุณวีระชัย วีระเมธีกุล ,คุณวิรัตน์ กัลยาศิริ ,คุณอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี และคุณคมจิต ลุสวัสดิ์.ได้เดินทางพบปะและรับฟังปัญหาของสมาคมตัวแทนประกันชีวิตฯ โดยตนเองได้เป็นผู้กล่าวให้การต้อนรับพร้อมกับแนะนำกรรมการ และขอบคุณนายอภิสิทธิ์และคณะที่เดินทางมารับฟังปัญหาครั้งนี้ โดยมีอดีตนายกสมาคมตัวแทนฯหลายท่านในฐานะที่ปรึกษาสมาคมตัวแทนฯร่วมอยู่รับฟังและแลกเปลี่ยนและเสนอความคิดเห็นและปัญหาด้วย ได้แก่นายมนตรี แสงอุไรพร นายบุญชัย หรูตระกูล นายบรรยง วิทยวีรศักดิ์ นางสาวศิริภรณ์ พุทธรักษ์ และนายทวีเดช งามขจรกุล เป็นต้น สาระสำคัญที่ทางสมาคมตัวแทนฯได้นำเสนอ นายกสมาคมตัวแทนฯ กล่าวว่า ส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องของภาษี โดยตนเองได้มอบหมายให้นายบรรยง วิทยวีรศักดิ์ เป็นผู้พูดและนำเสนอถึงปัญหาเรื่องนี้ และอีกเรื่องที่สมาคมตัวแทนฯอยากเรียกร้องก็คือ อยากให้มีหน่วยงานภาครัฐที่ไปควบคุมค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาล ซึ่งทุกวันนี้รพ.ชาร์ทค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง จนลูกค้าได้บ่นมามาก ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าลูกค้าซื้อค่าห้อง 5,000 บาท ปัจจุบันเมื่อลูกค้าเข้ารพ.จะมีการแยกรายการจัดเก็บ เป็นค่าแม่บ้าน และค่าเวชภัณฑ์รวมเข้าไปอยู่ในรายการที่เบิกกับบริษัทประกันด้วย จนทำให้ค่าห้องเหลือเพียง 3,000 บาท ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลจำแนกหรือคิดไม่เท่ากัน จึงอยากให้มีการจัดระเบียบและวางมาตรฐานตรงนี้ เราในฐานะคนกลางจะทำอย่างไร ไม่ให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภค ด้านนายบรรยง วิทยวีรศักดิ์ อดีตนายกสมาคมตัวแทนฯ และที่ปรึกษาสมาคมตัวแทนฯ กล่าวว่า ตนเองได้นำเสนอไปว่า เรื่องการหักค่าใช้จ่ายของตัวแทนประกันชีวิต ได้บอกคุณอภิสิทธิ์ไปว่า ทุกวันนี้ที่กรมสรรพากรได้ให้ตัวแทนหักค่าใช้จ่ายไม่เกิน 50% แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท มันไม่ใช่การหักค่าใช้จ่าย มันเป็นเพียงค่าหักค่าดำรงชีพเบื้องต้นเท่านั้นเอง เพราะ 50% ไม่เกิน 1 แสนเทียบเท่ากับคนกินเงินเดือน ซึ่งคนกินเงินเดือน นายจ้างออกค่าใช้จ่ายให้ทุกอย่างในการประกอบธุรกิจ ลูกจ้างออกเพียงค่าเดินทาง ค่าเสื้อผ้าไปเดินทางเท่านั้นเอง และตัวแทนก็ได้รับการหักค่าใช้จ่ายเท่ากับลูกจ้าง แต่ขณะที่ในการประกอบธุรกิจ เราออกเองทุกอย่าง ไม่ว่า จะเป็นของเยี่ยม หรือของฝาก ค่ารับรอง ค่าส่งเสริมการขาย เครื่องไม้เครื่องมือ ไอแพดที่ใช้ประกอบการขาย ค่าฝึกอบรม สิ่งเหล่านี้ตัวแทนต้องออกเองทั้งหมด ยิ่งในสภาวะที่มีการแข่งขันสูง ธนาคารมีการจัดส่งเสริมการขายจำนวนมาก ตัวแทนก็ต้องเพิ่มการบริการให้มากขึ้น ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นมาก ซึ่งเรื่องนี้นายอภิสิทธิ์รับฟังแล้ว ก็เห็นด้วย ส่วนเรื่องที่สองเป็นเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่มที่ไม่เป็นธรรม สมาคมตัวแทนฯก็มองว่า ตัวแทนไม่ใช่ผู้รับบริการ เพราะโดยหลักแล้ว ผู้บริโภคคนสุดท้ายต้องเป็นคนจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม เราขายบริการให้บริษัทประกันฯ บริษัทต้องเป็นคนจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม และบริษัทก็ขายกรมธรรม์ให้ลูกค้าอีกต่อหนึ่ง ก็ต้องส่งต่อภาระนี้ไปยังผู้บริโภค แต่ทุกวันนี้กลายเป็นว่า รายได้ที่ตัวแทนเราได้รับมา 100 บาท เราต้องเสียภาษีแวต 7 บาท เหลือถึงตัวแทนเราแค่ 93 บาทเท่านั้น “ในอดีตภาษีมูลค่าเพิ่ม ถูกนำมาแทนภาษีการค้า แต่เดิมตัวแทนไม่ต้องเสียภาษีการค้า เพราะฉะนั้นทุก 100 บาทของค่านายหน้า ตัวแทนได้รับเต็ม แต่ตอนนี้ต้องจ่าย 7 บาท เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งมันไม่ถูกต้อง ถ้ากรมสรรพากรประกาศหลักการว่า ผู้บริโภคต้องรับภาระภาษีมูค่าเพิ่ม ก็ต้องผลักภาระไปให้ผู้บริโภค ที่ผ่านมาตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ตัวแทนกล้ำกลืนไม่อยากผลักภาระไปให้ผู้บริโภค แต่การที่ให้ตัวแทนต้องมารับภาระเพิ่มอีก 7% มันก็เป็นเรื่องที่ต้องสุดทน เมื่อเราพยายามให้ทางสรรพากรหาทางออกให้กับเรา ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับเรา สรรพากรบอกว่าทำไม่ได้ ถ้าอย่างงั้นก็ต้องทำตามกติกา คือผลักภาระให้กับผู้บริโภค” นายบรรยง กล่าวต่ออีกว่า เคยนำเสนอเรื่องนี้กับสรรพากรแล้วว่า บริษัทประกันต้องเป็นผู้รับภาระภาษี และผลักต่อให้ผู้บริโภค สรรพากรตอบมาว่า “ช่วยไม่ได้ อำนาจต่อรองคุณ สู้บริษัทไม่ได้” เราจึงเกิดข้อสงสัยว่า ในฐานะที่กรมสรรพากรเป็นผู้คุมกฎ ตอบแบบนี้ได้อย่างไร ทำไมไม่บังคับใช้กฎหมาย ให้ผู้ซื้อบริการเป็นคนรับภาระค่าใช้จ่ายนี้ เราเป็นคนขายบริการ ไม่ใช่ผู้ซื้อ จึงต้องไม่รับภาระเหล่านี้ ซึ่งสิ่งที่เราเสนอล้วนแล้วแต่เป็นข้อเท็จจริง และเป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง เราไม่ได้ปฎิเสธการจ่ายภาษี แต่ต้องเสียภาษีบนพื้นฐานที่เป็นธรรมและเป็นหลักการที่ทั่วโลกเขาทำกัน แต่ทุกวันนี้การเสียภาษีของเราถูกบิดเบือน ในอดีตเราไม่รู้เรื่องภาษี ก็ก้มหน้าฝืนทน จ่ายภาษีไปแบบงงๆ แต่เมื่อเรามาเป็นนักวางแผนการเงิน เรียนรู้เรื่องการวางแผนภาษี เราจึงรู้ว่า การเสียภาษีที่ผ่านมาของเรา ไม่เป็นธรรม ซึ่งคุณอภิสิทธิ์ก็รับฟัง และบอกว่า ในหลักการควรจะเป็นเช่นนั้น นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอปัญหาให้คุณอภิสิทธิ์ไปอีกว่า การขายประกันของช่องทางธนาคารพาณิชย์ปัจจุบันที่มีการเอาเปรียบผู้บริโภคด้วยการขายกึ่งบังคับ และบางครั้งก็บิดเบือนว่าเป็นการฝากเงิน ซึ่งเรื่องนี้คุณอภิสิทธิ์ได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษ และตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมคปภ.จึงไม่สามารถมากำกับดูแลตรงนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ