กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ประกอบด้วย กลุ่มหมอไม่ทน, ภาคีบุคลากรสาธารณสุข, Nurses Connect, สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA-Thailand) และ DNA บุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัคร ออกแถลงการณ์เรื่องความโปร่งใสในการกระจายวัคซีน Pfizer ที่จะเข้ามาในวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 กระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่าบุคลากรการแพทย์ด่านหน้าจะได้รับการฉีดวัคซีน Pfizer มากกว่า 500,000 โดส โดยจะเริ่มฉีดต้นเดือนสิงหาคม ทว่าสถานการณ์ขณะนี้นับว่ามีความขัดแย้งกับคำกล่าวข้างต้นอย่างมาก เมื่อพิจารณาถึงความจริงที่ว่าขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากต้องเข้ารับการฉีดวัคซีน AstraZeneca เป็นบูสเตอร์โดสเข็ม 3 ทั้งด้วยความไม่มั่นใจในการมาถึงของ Pfizer การถูกทำให้เชื่อว่าจะไม่มีวัคซีน Pfizer เข้ามา และการคาดการณ์ว่า Pfizer จะเข้ามาไม่พอสำหรับบุคลากรฯ ทั้งหมด โดยมีหลักฐานและข้อยืนยันจำนวนมากที่พิสูจน์ว่าสภาพการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเวียนในโรงพยาบาลหรือการประกาศว่าจะไม่รับผิดชอบหากบุคลากรฯ ที่ยืนยันจะรอ Pfizer ติดโควิดในระหว่างรอวัคซีน สภาพการณ์ดังกล่าว นำไปสู่การตั้งคำถามว่าขณะนี้มีบุคลากรทางการแพทย์ได้รับวัคซีน AstraZeneca ไปแล้วเท่าใด และยังมีเจตจำนงรอฉีดวัคซีน Pfizer ต้นเดือนหน้าดังที่กระทรวงสาธารณสุขกล่าวอ้างเท่าใด มีข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับการกระจายวัคซีนครั้งนี้ ทว่ากระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีข้อมูลของบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมดในมือกลับไม่เปิดเผยตัวเลขอย่างโปร่งใสชัดเจน นอกจากความคลุมเครือของข้อมูลเรื่องวัคซีน การออกแบบและจัดการเพื่อทำให้วัคซีนอยู่ในอุณหภูมิที่ถูกต้องเหมาะสม (Cold-chain tracking) ซึ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้จัดทำ เพื่อติดตามการกระจายของวัคซีนยี่ห้อและล็อตต่างๆ ยังได้ปิดตัวลงตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม (ดูได้ที่ https://datastudio.google.com/.../731713b6.../page/JMn3B...) และถูกแทนที่ด้วยเว็บไซต์ที่ทางกระทรวงสาธารณสุขทำแทน (ดูได้ที่ https://dashboard-vaccine.moph.go.th/dashboard.html) ซึ่งไม่มีการแจ้งรายละเอียดยี่ห้อวัคซีนหรือล็อต มีเพียงข้อมูลว่า ประชาชนในแต่ละจังหวัดได้รับการฉีดวัคซีนเป็นจำนวนเท่าใด เพียงแค่นั้น เพื่อความโปร่งใสและการกระจายวัคซีนให้ถึงมือผู้ควรได้รับโดยปราศจากเส้นสาย หมอไม่ทน, ภาคีบุคลากรสาธารณสุข, Nurses Connect, สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA Thailand Official) และ DNA บุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัคร จึงขอเรียกร้องต่อกระทรวงสาธารณสุขดังนี้ 1. นำวัคซีน mRNA มาเป็นวัคซีนหลักให้คนไทยทุกคน 2. ชี้แจงและเปิดเผยข้อมูลว่ามีบุคลากรฯ ได้รับวัคซีน AstraZeneca เป็นบูสเตอร์โดสไปแล้วเท่าใด และยังเหลือบุคลากรฯ ที่ยืนยันจะรับไฟเซอร์เป็นจำนวนเท่าใด เพื่อให้จำนวนวัคซีนที่ได้รับพอดีกับบุคลากรฯ ไม่มีเศษตกหล่นติดตามไม่ได้นอกระบบ 3. นำข้อมูลสำคัญที่จะพิสูจน์ความโปร่งใสกลับมาบรรจุในระบบ Cold-chain tracking นั่นคือเส้นทางการกระจายวัคซีนโดยระบุยี่ห้อและล็อตต่างๆ ของวัคซีน และเปิดให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย เพื่อแสดงความรับผิดชอบของรัฐต่อประชาชน และให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการก้าวข้ามวิกฤต 4. ระบุผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจนกรณีเกิดการจัดสรรการกระจายวัคซีนผิดพลาดหรือทุจริต นอกจากนั้น เรายังขอเชิญชวนประชาชนทุกคน ร่วมลงชื่อสนับสนุนการนำ mRNA มาเป็นวัคซีนหลักทาง change.org/vaccinewetrust และร่วมจับตามองการกระจายวัคซีนครั้งนี้ ด้วยการแจ้งเบาะแสมายัง “แบบรับรายงานความผิดปกติในการกระจายวัคซีนโดย สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย” (เข้าถึงได้ที่ shorturl.at/dkDHK หรือ QR code ด้านล่าง) หรือ ส่งเมลมาที่ [email protected] หากท่านพบเห็นหรือทราบข้อมูลการได้วัคซีนมาอย่างไม่ถูกต้อง เราจะถามไปด้วยกันว่า #เก็บไฟเซอร์ไว้ให้ใคร ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีน และการปิดบังข้อมูลเส้นทางการกระจายวัคซีน คือการลดโอกาสการมีชีวิตรอดของประชาชน เพื่อเรียกร้องถามหาความโปร่งใสนี้ อีกไม่นาน ตัวแทนบุคลากรทางการแพทย์จะมีการเคลื่อนไหว ขอให้ประชาชนติดตามอย่างใกล้ชิด ตัวแทนบุคลากรทางการแพทย์ 27 กรกฎาคม 2564 โดยภาคีบุคลากรสาธารณสุข และหมอไม่ทน จะยื่นหนังสือถึงสถานทูตสหรัฐฯ ขอช่วยตรวจสอบและระบุเงื่อนไขการจัดสรรไฟเซอร์ 1.54 ล้านโดส ให้ถึงด่านหน้า และกลุ่มเสี่ยงอย่างแท้จริง วันนี้ (27 ก.ค.64) เวลา 10.30 น. ทั้งนี้มีการประกาศชัดเจนจากศบค.ไปแล้วว่า 5 แสนโดส จะกระจายไปยังบุคลากรด่านหน้าทั่วประเทศ 8 แสนโดส ให้กลุ่มผู้สูงอายุ-ผู้มีโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์สัญชาติไทย 1.5 แสนโดส ให้ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย เน้นกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคเรื้อรัง 4.5 หมื่นโดส ให้ผู้ที่มีความจำเป็นเดินทางไปต่างประเทศ นักเรียน นักศึกษา นักกีฬา นักการทูต 2.5 พันโดส ทำการวิจัย และ 4 หมื่นโดส สำรองไว้ส่วนกลางสำหรับตอบโต้การระบาด