วันที่ 26 ก.ค.64 พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนหรือเป็นเท็จในลักษณะข่าวปลอม(Fake News) จากผู้ไม่หวังดีที่พยายามบิดเบือนข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ นั้น โดยในวันนี้ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ตรวจพบข่าวปลอม 2 กรณี คือ 1. กรณีการส่งต่อข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่า ด.ต.วัชระกร บุญตา ผู้บังคับหมู่(ป.)สถานีตำรวจภูธรสูงเม่น จว.แพร่ ได้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า เข็มที่ 2 และเสียชีวิตทั้งที่ไม่มีโรคประจำตัวนั้น ทางสถานีตำรวจภูธรสูงเม่น ได้ตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงว่า จากผลการชันสูตรศพจากโรงพยาบาลแพร่ ระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่า เนื่องจากเส้นเลือดในสมองแตก มีโรคประจำตัวคือไขมันและความดันสูง อีกทั้ง ด.ต.วัชระกร ไม่ได้มีประวัติการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าแต่อย่างใด โดยมีประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้แก่ ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ยี่ห้อ ซิโนแวค เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 และกำลังจะฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ยี่ห้อ แอสตร้าเซเนก้า ในวันที่ 3 สิงหาคม 2564 2. กรณีการส่งต่อข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่า ชุดตรวจโควิด-19 ด้วยตนเองแบบ SGTi-flex COVID-19 Ag ได้รับอนุญาตจาก อย. สามารถซื้อมาตรวจเองได้ที่บ้าน ไม่ต้องไปตรวจที่โรงพยาบาลแล้วนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARs- CoV-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) แบบตรวจหาแอนติเจน ชื่อ SGTi-flex COVID-19 Ag ยังไม่ได้รับการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้เผยแพร่รายชื่อชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARs-CoV-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) ที่ได้รับอนุญาตทางเว็บไซต์กองควบคุมเครื่องมือแพทย์แล้วที่เว็บไซต์ https://bit.ly/3eVknM8ซึ่งชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARs- CoV-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) แบบตรวจหาแอนติเจน ใช้เพื่อคัดกรองเบื้องต้นเท่านั้น ควรได้รับการตรวจยืนยันด้วย RT-PCR และเป็นชุดตรวจที่ขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อมิให้เกิดความสับสนและตื่นตระหนก ซึ่งการกระทำของผู้เผยแพร่ข่าวปลอม อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2),(5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดต่อไป ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบข้อมูลการกระทำผิด สามารถแจ้งเบาะแสผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com ,เฟซบุ๊ก ANTI-FAKE NEWS CENTER, ทวิตเตอร์ @AFNCThailand, ไลน์ @antifakenewscenter และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87