สสส.-สช.-อว.-สมาพันธ์นิสัตนักศึกษานานาชาติฯ เปิดเวทีตีแผ่ปัญหา PM2.5 พบ กรุงเทพฯ ค่าฝุ่นเกินมาตรฐานเกือบ 2 เท่าตัว ดึงคนรุ่นใหม่ร่วมแข่งขันนวัตกรรม-สร้างนโยบายสาธารณะ หาทางออกวิกฤตฝุ่นพิษ แนะแนวคิด 3 ข. เขย่า-ขยับ-เขยื้อน สร้างความเข้าใจ-เปลี่ยนพฤติกรรมคน เล็งต่อยอด “นวัตกรรมแพลตฟอร์มจัดการ PM2.5 แบบชี้เป้า” คว้ารางวัล Best Innovation แก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว
เมื่อวันที่ 25 ก.ค. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสมาพันธ์นิสัตนักศึกษานานาชาติแห่งประเทศไทย (International Federation of Medical Students' Associations : IFMSA) จัดงานประกาศผลการตัดสินการประกวดนโยบายและนวัตกรรมทางสังคมของคนรุ่นใหม่เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 ภายใต้โครงการ Thailand Youth Policy Initiative (TYPI) โดยมีเยาวชนและวัยทำงาน อายุ 16-30 ปี รวมกลุ่มจากสาขาต่างๆ 5 คนต่อทีม ร่วมส่งผลงานเข้าประกวดรวม 30 ผลงาน โดยผู้ได้รับรางวัล Best Innovation ได้แก่ ทีม People Matter (PM 4.0) ผลงานแพลตฟอร์มดิจิทัลสาธารณะ เพื่อการจัดการมาตรการ PM2.5 แบบชี้เป้า สร้างระบบกลไกการทำงานที่ตอบโจทย์บริบทของพื้นที่ ภายใต้แนวคิด “นโยบายสะท้อนเสียงประชาชนมากที่สุด”
โดย นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยที่สะสมมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่าง กรุงเทพฯ เนื่องจากมีการก่อสร้างพัฒนาเมืองตลอดเวลา รวมถึงการเผาไหม้ของรถบนท้องถนน จากข้อมูลการประมาณการณ์ความเสียหายจากฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ปี 2563 พบว่า กรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจกว่า 3 หมื่นล้านบาท ทั้งค่าเสียโอกาสด้านสุขภาพ ค่ารักษาพยาบาล ค่าเครื่องฟอกอากาศ ค่าเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยว และค่าเสียโอกาสของภาคธุรกิจ การประกวดนโยบายและนวัตกรรมทางสังคมของคนรุ่นใหม่เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 ครั้งนี้ ผู้ที่ส่งผลงานเข้าประกวดทุกคน ถือเป็นกำลังสำคัญในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลจะได้รับโอกาสต่อยอดผลงานถูกนำไปใช้งานได้จริง และขยายผลต่อไปในวงกว้างมากยิ่งขึ้น เพื่อเร่งแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศที่ต้นเหตุ เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนได้ในระยะยาว
ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า โครงการฯ นี้ จะทำให้มีนโยบายสาธารณะที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่สะท้อนให้เห็นว่านโยบายสาธารณะไม่จำเป็นต้องเกิดจากการคิดของนักนโยบายของหน่วยงานราชการเท่านั้น แต่อาจมาจากกลุ่มคนในวัยที่หลากหลายที่มีความเชี่ยวชาญต่างสาขากัน ปัญหาฝุ่น PM2.5 มีแหล่งกำเนิดมาจากทั้งในเขตชนบท ในเขตเมือง ซึ่งอาจเกิดจากการเผาวัสดุทางการเกษตรเป็นวิถีชีวิต และแหล่งกำเนิดที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน การพัฒนานโยบายสาธารณะต้องพิจารณาทั้งสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม กฎหมายระเบียบ ความเป็นอยู่ ความสัมพันธ์ของคน ศิลปะ วัฒนธรรมประเพณีของพื้นที่ด้วย
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกกำหนดค่ามาตรฐานของฝุ่น PM2.5 ที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ปลอดภัยต่อสุขภาพอยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ในประเทศไทยกลับพบฝุ่น PM2.5 ที่ 50-68 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือว่ามากกว่ามาตรฐานเกือบ 2 เท่าตัว กลายเป็นปัญหามลพิษทางอากาศต้นเหตุสำคัญทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินทางใจ สสส. ตระหนักถึงผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 มุ่งขับเคลื่อนการทำงานตั้งแต่ระดับพื้นที่ไปจนถึงระดับนโยบายเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ การแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ต้องเร่งแก้ไขแบบองค์รวม ทั้งการปลูกจิตสำนึกส่วนบุคคล การสร้างความสัมพันธ์แบบมีส่วนร่วมของคนในสังคม เพื่อร่วมแก้ปัญหา ไม่ใช่เป็นการออกกฎ ระเบียบบังคับใช้เท่านั้น
ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวอีกว่า สสส. สนับสนุนการสร้างเมล็ดพันธุ์นักนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพจากพลังคนรุ่นใหม่ที่สำคัญของประเทศ เพื่อพัฒนานวัตกรรมให้เป็นรูปธรรม และขยายผลไปสู่การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ที่ผ่านมา สสส. แก้ปัญหาฝุ่นควันภายใต้แนวคิด 3 ข. คือ 1.เขย่า คิดนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น นวัตกรรมธงสุขภาพ สีฟ้า เขียว เหลือง ส้ม แดง ใช้คู่กับเครื่องวัดค่าฝุ่น แจ้งเตือนให้คนในพื้นที่รู้ระดับคุณภาพอากาศ ดำเนินการใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งลดเสี่ยงต่อสุขภาพ 2.ขยับ นำสิ่งใหม่ที่คิดไปปรับใช้จริงตามบริบทของแต่ละพื้นที่และ 3.เขยื้อน ขยายผลจากระดับปัจเจกหรือระดับพื้นที่ นำไปสู่การผลักดันนโยบายเพื่อการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างเร่งด่วน โดย สสส. ร่วมกับสภาลมหายใจ 8 จังหวัดภาคเหนือ ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมทำงานอย่างทุ่มเท สามารถแก้ปัญหาวิกฤตฝุ่น PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรม ก่อให้เกิดความร่วมมือและเปลี่ยนแปลงค่านิยมในระดับภูมิภาค ทั้งนี้ หากทุกพื้นที่นำแนวคิด 3 ข. ไปปฏิบัติได้สำเร็จสามารถแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 รวมถึงปัญหาสุขภาพอื่นๆ ในพื้นที่ได้
น.ส.นิศรา ปานช้าง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้แทนทีม People Matter (PM 4.0) กล่าวว่า ผลงานแพลตฟอร์มดิจิทัลสาธารณะ เพื่อการจัดการมาตรการ PM2.5 แบบชี้เป้า มีแนวคิดทำให้นโยบายสะท้อนเสียงประชาชนมากที่สุด เพื่อลดช่องว่าง และเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐและประชาชน ผ่านกลไกการทำงานที่ให้สื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันมากขึ้น เพื่อเอื้อให้เกิดการออกแบบนโยบายที่ตอบโจทย์บริบทพื้นที่และความต้องการของประชาชนมากขึ้น โดยแพลตฟอร์มออกแบบให้มี 3 คุณลักษณะ คือ 1.ชุดดัชนีนโยบายและมาตรการที่เข้ากับบริบทเฉพาะพื้นที่กับข้อมูลเปิดสาธารณะด้านคุณภาพอากาศ 2.ระบบติดตามการกำเนินนโยบายและมาตรการของภาครัฐ และ 3.พื้นที่สร้างการส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งทั้ง 3 คุณลักษณะนั้นออกแบบให้เชื่อมโยงและทำงานเกื้อหนุนกันอย่างเป็นวงจรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การออกแบบนโยบายและการนำไปปฏิบัตินั้นสอดคล้องกับบริบทและเงื่อนไขเฉพาะแต่ละพื้นที่มากที่สุด
ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการมอบรางวัลชนะเลิศ 3 รางวัล ได้แก่ 1.ทีม Dustappear ผลงานศูนย์บริหารสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (ศบฝ.) และแอปพลิเคชัน “ไทยสู้ฝุ่น” ตั้งตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory carbon market) และภาษี Green Area 2.ทีม Airtopia ผลงาน PM2.5 Smart Tracking จัดสรรสิทธิ (PM2.5 เครดิต) ใช้ลดภาษี 3. ทีมทางของฝุ่น ผลงาน Inclusive sustainable area development แนวทางการสร้างพื้นที่สีเขียวในชุมชนเมือง และรางวัลชมเชย 26 รางวัล