สสส.ร่วมมือชาวปาดังเบซาร์สู้โควิด! หนุนทางรอดสร้างแหล่งอาหารปลอดภัย เน้นช่วยคนตกงาน-กลุ่มเปราะบาง หลังพบจ.สงขลาติดเชื้อสูงกว่า 1.5 พันราย พร้อมส่งทีมพี่เลี้ยงสอนทักษะทำเกษตร-ฟาร์มไก่-ฟาร์มวัว ตั้งเป้าคนในพื้นที่มีทักษะทำเกษตร-สร้างอาชีพ-มีรายได้รับความเสี่ยงในทุกวิกฤต
เมื่อวันที่ 23 ก.ค.นางเข็มเพชร เลนะพันธ์ รักษาการผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาส สสส. กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สร้างผลกระทบโดยตรงกับประชาชนทั่วประเทศ จากข้อมูลแนวโน้มคนตกงานในสถานการณ์วิกฤต ปี 2563 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า วัยทำงานมีแนวโน้มที่จะว่างงาน ร้อยละ 17.9 หรือกว่า 6 ล้านคน ที่สำคัญยังพบว่า คนว่างงานไม่มีทักษะที่ใช้ประกอบอาชีพอื่นได้ในทันที ที่น่าห่วงคือ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด พบจังหวัดทางภาคใต้ติดอันดับถึง 3 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ปัตตานี และยะลา รวมผู้ป่วยสะสมกว่า 1 หมื่นคน ทำให้เศรษฐกิจภายในพื้นที่ต้องหยุดชะงัก มีคนว่างงานจำนวนมาก ทั้งกลุ่มรับจ้างรายวันที่ถูกเลิกจ้างจากประเทศมาเลเซีย พนักงานโรงแรม โรงงาน ร้านค้า ที่ไม่มีเงินสำรองเลี้ยงชีพ ทำให้กระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของครัวเรือน
นางเข็มเพชร กล่าวว่า สสส. มุ่งสร้างความมั่นคงทางอาหารพื้นฐานในการดำรงชีวิตนำไปสู่การพึ่งพาตัวเอง ร่วมกับภาคีคนสร้างสุขภาคใต้ และแกนนำจิตอาสาในพื้นที่ ริเริ่มโครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิต และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะจังหวัดภาคใต้ โดยจัดทำโครงการนำร่องใน 5 จังหวัด 15 พื้นที่ ได้แก่ สงขลา 3 พื้นที่ ปัตตานี 3 พื้นที่ ยะลา 3 พื้นที่ นราธิวาส 3 พื้นที่ และสตูล 3 พื้นที่ ภายใต้แนวคิด พื้นที่สีเขียวกินได้ โดยปรับพื้นที่ว่างเปล่าให้เปลี่ยนเป็นแปลงเกษตรแหล่งผลิตอาหารของชุมชน พร้อมสอนทักษะอาชีพเพาะปลูก ให้คนตกงานได้เข้ามามีส่วนร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับคนในชุมชนในระยะยาว เน้นให้ชุมชนมีแหล่งผลิตอาหารด้วยตัวเอง ขณะนี้มีคนในชุมชนเข้าร่วมเป็นแกนนำในโครงการฯ แล้วทั้งสิ้นกว่า 300 คน โดยภายในปีนี้ตั้งเป้าหมายจะขยายพื้นที่เพื่อกระจายความมั่นคงด้านอาหารไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบทั้ง 14 จังหวัดในภาคใต้
นายภาสกร เกื้อสุข ประธานสภาเทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา กล่าวว่า จังหวัดสงขลามีผู้ป่วยโควิดสะสมกว่า 1.5 พันคน โดยเฉพาะพื้นที่ ต.ปาดังเบซาร์ พบผู้ติดเชื้อในพื้นที่กว่า 100 คน ประกอบกับรัฐบาลมีมาตรการปิดประเทศ ด่านศุลากร ธุรกิจการท่องเที่ยวชายแดน และการขนส่งสินค้าโลจิสติกส์ในพื้นที่ต้องหยุดชะงัก ส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ แรงงานไทยในประเทศมาเลเซียถูกเลิกจ้าง ตกงาน ขาดรายได้ ทำให้กระทบต่อคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ 16,189 คน โครงการฯ ของ สสส. ช่วยสานพลังแกนนำชุมชนเทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ทั้ง 8 ชุมชน ได้มองเห็นประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ ร่วมกันปรับพื้นที่ว่างเปล่าในสถาบันปอเนาะอัรฉาดียะฮ์ ศูนย์การเรียนรู้ด้านศาสนาและวัฒนธรรมอิสลาม ที่มีพื้นที่กว่า 10 ไร่ ให้เป็นแหล่งผลิตอาหาร ทำให้คนในพื้นที่ปาดังเบซาร์มีอาหารไว้บริโภคตลอดทั้งปี
นายภาสกร กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้สถาบันปอเนาะอัรฉาดียะฮ์ ที่มีนักเรียนประจำกว่า 40 คน ต้องหยุดการเรียนการสอน ทำให้นักเรียนบางคนที่กำพร้าพ่อแม่ไม่มีที่อยู่ และบางคนต้องติดยาเสพติด โครงการฯ ของ สสส. ทำให้นักเรียนได้กลับมาใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ มีส่วนร่วมกับคนในชุมชนเปลี่ยนสถาบันปอเนาะฯ เป็นแปลงปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษ ทั้งผักกาด ผักบุ้ง มะเขือ ฟาร์มเลี้ยงไก่-วัว โดยมีกฎกติกา 2 ข้อ คือ 1.รดน้ำ พรวนดิน ปลูกผัก ให้อาหารสัตว์ทุกวัน และ 2.จัดเก็บผักสวนครัวปลอดสารเคมี 20 กิโลกรัม กระจายสู่ผู้ได้รับผลกระทบในชุมชน โดยจะแบ่งปันกลุ่มเปราะบางเป็นอันดับแรก ทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการในชุมชน กว่า 40 คน ผักอีกส่วนนำไปจำหน่ายเป็นเงินหมุนเวียน 200-300 บาททุกสัปดาห์
“การสร้างแหล่งอาหารชุมชน ประสบผลสำเร็จได้เพราะแกนนำอาสาสมัครจากชุมชนที่ทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ ทำเกษตรจากพื้นที่ว่างเปล่าให้เป็นแหล่งอาหารชุมชนได้ ที่น่าดีใจคือ สสส. เข้ามาสานความร่วมมือในพื้นที่ ทำให้ชาวชุมชนเข้าถึงประโยชน์จากแหล่งอาหารเพื่อนำไปประกอบอาหารในครัวเรือนได้ ลดความเปราะบางด้านอาหารให้อยู่รอดไม่ว่าจะเผชิญวิกฤตอีกกี่ระลอกก็ตาม คนในชุมชนที่ตกงานได้มีส่วนร่วมเรียนรู้ทักษะการเกษตรและร่วมเป็นอาสาสมัครดูแลแปลงผัก นักเรียนทำหน้าที่ดูแลฟาร์มเลี้ยงสัตว์ รวม 30 คน ช่วยให้กลุ่มเปราะบางสามารถเข้าถึงอาหารทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์วิกฤต ถือเป็นการเสริมทักษะทำเกษตรปลอดสารพิษเป็นอาชีพและรายได้เลี้ยงชีพในระยะยาวให้กับคนในพื้นที่และเยาวชนเพื่อรับความเสี่ยงว่างงานในอนาคต” นายภาสกร กล่าว
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสร้างพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร เพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิต และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชน สามารถสอบถามและติดตามได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ “เครือข่ายคนสร้างสุข / คนใต้สร้างสุข”