สทนช. เปิดรับแนวคิดภาครัฐ เอกชน ประชาชน ร่วมถกผลสรุปโครงการศึกษา SEA ลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบฯ ลดพื้นที่ท่วมซ้ำซากเมืองเพชรบุรี-อ.บางสะพาน ควบสร้างสมดุลภาคเกษตร -อุตสาหกรรม-ท่องเที่ยว ก่อนคลอดแผนหลักการบริหารจัดการน้ำและแผนปฏิบัติการ 5 ปีให้หน่วยเกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช. ให้ความสำคัญและเน้นย้ำการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเสนอความเห็นในการกำหนดทิศทางการพัฒนาทรัพยากรน้ำระดับพื้นที่ ซึ่งรวมถึงการจัดเวทีปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA และแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Video Conference) ณ โรงแรมโนโวเทลหัวหินชะอำบีช รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดเพชรบุรี ก็เพื่อให้ภาคส่วนเกี่ยวข้องรับทราบถึงผลการศึกษา หลังจาก สทนช.ดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จ และจะรวบรวมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ก่อนสรุปผลการศึกษาที่สมบูรณ์ ตามกระบวนการของ SEA ซึ่งเป็นระบบที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมต่อการวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเชิงพื้นที่ เพื่อใช้สนับสนุนการตัดสินใจในการกำหนดนโยบาย แผน หรือแผนงาน ตั้งแต่การพัฒนาทางเลือก การประเมินและคัดเลือกทางเลือกของการพัฒนาที่สอดคล้องกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม จึงเป็นการเสริมการวางแผนในลักษณะมองจากล่างขึ้นบน ทำให้ได้ทิศทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับศักยภาพ ข้อจำกัด และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความสมดุลและการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงเปรียบเทียบทางเลือกในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน สำหรับผลการศึกษาในเบื้องต้นแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ 1.ทิศทางการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ลุ่มน้ำ คือ การพัฒนาแบบผสมผสาน ระหว่างการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ร่วมกับการพัฒนาด้านการเกษตรที่ยังคงไว้ซึ่งระบบเพาะปลูกแบบเดิม หรืออาจปรับระบบเพาะปลูกในบางลุ่มน้ำสาขาให้สอดคล้องกับศักยภาพของดินและน้ำ 2.แผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ตามทิศทางการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำโดยมีโครงการทั้งสิ้น 2,431 โครงการ ส่งผลให้มีการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้น 451 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทานเกือบ 300,000 ไร่ พร้อมช่วยลดพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมที่รอบปีการเกิดซ้ำ 25 ปี แบ่งเป็น ในเขตเมืองเพชรบุรีประมาณ 216 ตร.กม. และอ.บางสะพานประมาณ 8 ตร.กม. และ 3. จัดทำแผนปฏิบัติการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 5 ปี (ปี 2566-2570) รวมถึงฐานข้อมูลโครงการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับคณะกรรมการลุ่มน้ำและหน่วยงานด้านบริหารจัดการน้ำ นำไปขับเคลื่อนแผนงานในปีต่อ ๆ ไป ซึ่งเบื้องต้นพบว่ามีแผนงานโครงการทั้งสิ้น 973 โครงการ ซึ่งสอดคล้องกับแผนน้ำฯ 20 ปี อาทิ ด้านน้ำอุปโภคบริโภค ประชาชนได้รับประโยชน์ 6,277 ครัวเรือน การสร้างความมั่นคงน้ำภาคการผลิต พื้นที่ได้รับประโยชน์ 132,000 ไร่ เป็นต้น “ด้วยสภาพพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ มีความหลากหลาย ทั้งภูเขา ป่าไม้ ที่ราบลุ่มแม่น้ำ ตลอดจนชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย ทำให้มีทรัพยากรทางการท่องเที่ยวมากมาย เป็นแหล่งผลิตพืชเศรษฐกิจและแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตรที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ มะพร้าว มะนาว สับปะรด อ้อย ปาล์มน้ำมัน จึงมีปริมาณการใช้น้ำส่วนใหญ่เป็นภาคเกษตร รองลงมาเป็นภาคอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว โดยสภาพปัญหาด้านน้ำจะพบปัญหาขาดแคลนน้ำใน 4 อำเภอ จ.เพชรบุรี ได้แก่ อ.เมืองเพชรบุรี อ.เขาย้อย อ.บ้านลาด และ อ.ท่ายาง และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ อ.หัวหิน ขณะที่ปัญหาอุทกภัยส่วนใหญ่เกิดจากการระบายน้ำไม่ทัน โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ ประกอบกับมีสิ่งกีดขวางทางน้ำ และอิทธิพลจากน้ำทะเลหนุน ดังนั้น จำเป็นต้องเร่งรัดวางแผนบริหารจัดการอุทกภัยทั้งระบบ จัดการความต้องการน้ำตามการพัฒนาของเมือง เนื่องจากการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ทำได้ยากขึ้น สร้างสมดุลระหว่างภาคเกษตร อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว รองรับการพัฒนาเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย”ดร.สมเกียรติ กล่าว