วันที่ 21 ก.ค. 2564 นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดี และโฆษกอัยการปราบปรามทุจริตภาค 9 ให้ความเห็นข้อกฎหมายกรณีพบศพบุคคลเสียชีวิตอยู่กลางถนนนานนับ 10 ชั่วโมง ว่ากรณีดังกล่าว ทราบว่า ประชาชนแจ้งเจ้าหน้าที่แล้วก็ไม่มีใครมาเก็บศพหรือไม่มีใครมาตรวจสอบทำให้เกิดความสะเทือนใจ เกิดความไม่สบายใจและไม่รู้ว่าเป็นหน้าที่ของใคร ประชาชนผู้พบเห็น หรือบ้านอยู่แถวนั้นควรต้องทำอย่างไร มีกฎหมายให้ต้องปฏิบัติอย่างไร
ซึ่งนายโกศลวัฒน์ กล่าวว่า ตามกฎหมาย ป.วิอาญา มาตรา 149 ความตายผิดธรรมชาติเกิดมีขึ้น ณ ที่ใด ให้เป็นหน้าที่ของสามี ภริยา ญาติ มิตร สหายหรือผู้ปกครองของผู้ตายที่รู้เรื่องการตายเช่นนั้นจัดการ ดังต่อไปนี้ 1.เก็บศพไว้ ณ ที่ซึ่งพบนั้นเองเพียงเท่าที่จะทำได้ 2.ไปแจ้งความแก่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจโดยเร็วที่สุด หน้าที่ดังกล่าวในวรรคต้นนั้นมีตลอดถึงผู้อื่น ซึ่งได้พบศพในที่ซึ่งไม่มีสามีภริยา ญาติ มิตร สหาย หรือผู้ปกครองของผู้ตายอยู่ในที่นั้นด้วย
โดยมาตรา 149 วรรค 2 บัญญัติว่าให้เป็นหน้าที่ของบุคคลใดก็ได้ที่พบศพหรือประชาชนทั่วไปให้แจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ก่อน คือแจ้งไปยังสถานีตำรวจในพื้นที่ เพื่อตรวจดูศพเบื้องต้น โดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาการชันสูตรพลิกศพ ผู้ใดละเลยไม่กระทำหน้าที่ดังบัญญัติไว้ในมาตรานี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท
มาตรา 148 เมื่อปรากฏแน่ชัด หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ให้มีการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งสำหรับการตายผิดธรรมชาติ ได้เเก่ 1.ฆ่าตัวตาย 2.ถูกผู้อื่นทำให้ตาย 3.ถูกสัตว์ทำร้ายตาย 4.ตายโดยอุบัติเหตุ และ 5.ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ
เเละมาตรา 150 ในกรณีที่จะต้องมีการชันสูตรพลิกศพ ให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ กับแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ซึ่งได้รับวุฒิบัตรหรือได้รับหนังสืออนุมัติจากแพทยสภา ทำการชันสูตรพลิกศพโดยเร็ว เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้ ให้พนักงาน สอบสวนและแพทย์ดังกล่าวทำบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพส่งไปยังพนักงานอัยการโดยเร็ว
อย่างไรก็ตามหากมีการพบว่าศพดังกล่าวสงสัยจะติดเชื้อโควิด-19 ทางกระทรวงสาธารณสุขออกแนวทางปฏิบัติการจัดการศพว่า การติดเชื้อไวรัสโคโรนาแล้วเสียชีวิต ถือเป็นการตายโดยธรรมชาติ เจ็บป่วยตายไม่จําเป็นต้องมีการชันสูตรพลิกศพตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เว้นแต่หากเป็นการเสียชีวิตระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน เช่น การเสียชีวิตในห้องขัง ให้มีการชันสูตรพลิกศพ แต่อาจไม่จําเป็นต้องมีการผ่าชันสูตรศพ เพราะตายจากการติดเชื้อโควิด ถ้าผลแห่งการตายไม่ได้ตายเพราะถูกฆาตกรรมก็ต้องแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทราบเพื่อยุติคดีต่อไป
ทั้งนี้หน้าที่การเก็บศพในกฎหมาย ม.149 (2) ระบุว่า ให้ไปแจ้งความแก่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจโดยเร็วที่สุด จึงเห็นได้ว่ากฎหมายประสงค์ให้เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นเจ้าภาพหรือแม่งานในการดูแลศพ ให้เป็นไปตามกฏหมายต่อไป หากมีการแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยปกติก็จะประสานมูลนิธิต่างๆ เข้ามาช่วยเก็บ และนำส่งโรงพยาบาลเพื่อชันสูตร ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงควรตระหนักรู้ และสนับสนุนการเก็บศพให้กับพนักงานฝ่ายปกครองท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่จะต้องรับภาระแจ้งเหตุพบผู้ตายตามถนนสาธารณะมากขึ้น หน้าที่ต้องมากับการสนับสนุนทั้งบุคลากร ชุดป้องกันโรค และงบประมาณ ให้พร้อมปฎิบัติหน้าที่กันด้วย" รองอธิบดีอัยการ ระบุ