สาทร ปทุมวัน บางกอกน้อย ที่จัดหาไว้รองรับผู้ค้าได้รับผลกระทบจัดพื้นที่ หลังเปิดขายแล้วไม่เวิร์ก ช่วงเช้าถึงบ่ายไม่มีคน แก้ปัญหาขยายเวลาให้ขายถึงมืด ผู้ว่าฯย้ำต้องไม่ทำชาวบ้านเดือดร้อน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานประชุมคณะผู้บริหารกทม. ซึ่งสำนักงานเขตสาทร สำนักงานเขตปทุมวัน สำนักงานเขตบางกอกน้อย ได้รายงานผลการจัดหาพื้นที่รองรับผู้ค้าที่เคยขายของในพื้นที่ที่กทม.ได้จัดระเบียบ ซึ่งเขตสาทร ได้จัดพื้นที่บริเวณซอยเจริญกรุง 67ข้างวัดสุทธิวรารามเป็นพื้นที่ค้าขาย เขตปทุมวันได้จัดหาพื้นที่รองรับผู้ค้าฯ 3 แห่งคือ ข้างสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ข้างสวนลุมพินี ประตู 5 และบริเวณใต้ทางด่วนศรีรัช (แยกพงษ์พระราม) 340 แผงค้า ส่วนเขตบางกอกน้อย มีสถานที่ซึ่งได้จัดเตรียมไว้รองรับผู้ค้าบริเวณด้านหน้าภัตตาคารกุ้งหลวง รองรับผู้ค้าได้ 30 ราย แต่ปัจจุบันมีผู้ค้าเพียง 2-3 ราย ซึ่งหลังจากเปิดพื้นที่ให้ผู้ค้าได้เข้าทำการค้ามาได้ระยะหนึ่งกทม.ได้ส่งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลสังเกตการณ์ และประเมินผลอย่างใกล้ชิด พบว่าปัญหาที่คล้ายคลึงกันของพื้นที่เกือบทุกจุดคือผู้บริโภคมักนิยมออกมาจับจ่ายใช้สอยในช่วงเย็นถึงค่ำ ทำให้ช่วงเวลาที่เปิดค้าขายจนถึง 15.00 น. ไม่มีผู้ซื้อมากเท่าที่ควร จึงแก้ไขปัญหาโดยขยายเวลาขาย ดังนั้น จึงได้ข้อสรุปว่าบริเวณซอยเจริญกรุง 67 เขตสาทร ขยายเวลาขายออกไปจนถึง 20.00 น. ข้างช่างกลปทุมวัน เขตปทุมวัน ขยายเวลาถึง 22.00 น. และหน้าภัตตาคารกุ้งหลวง เขตบางกอกน้อย ขยายเวลาขายจนถึง 21.00 น. ส่วนกรณีตลาดใต้ทางด่วนพงษ์พระราม เขตปทุมวัน จะปรับปรุงด้านกายภาพเพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการค้าขาย ตลอดจนเพิ่มกิจกรรมนันทนาการต่างๆให้น่าสนใจยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯกทม. ย้ำว่า การขยายเวลาค้าขายและการปรับปรุงในด้านต่างๆ ต้องไม่กระทบประชาชนทั้งที่สัญจรและที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆ ส่วนกรณีตลาดประชารัฐของรัฐบาลนั้น เบื้องต้นสำนักพัฒนาสังคมได้จัดพื้นที่ภายในศาลาว่าการกทม. 1 และศาลาว่าการ กทม. 2 (ดินแดง) เป็นที่จำหน่ายสินค้าการเกษตรของเกษตรกรในพื้นที่กทม. โดยบูรณาการความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน ในลักษณะตลาดGreen Marketเริ่มจำหน่ายขายสินค้าตั้งแต่ ธ.ค.59 และสลับหมุนเวียนสินค้าการเกษตรกับสินค้าBangkok Brandซึ่งมีประชาชนสนใจมาจับจ่ายใช้สอยมากพอสมควร