กลายเป็นเทรนด์มาแรง แซงกระแสต่างๆ ในมาตรการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 ณ ชั่วโมงนี้
สำหรับ “การวัคซีนแบบผสมผสาน (Mix and Match)” หรือที่เรียกว่า “การฉีดวัคซีนแบบผสมสูตร” บ้าง หรือที่หลายคนเรียกกันจนฮิตติดปากในเวลานี้ก็คือ “การฉีดวัคซีนไขว้” นั่นเอง ซึ่งเป็นการนำเอาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 มากกว่า 1 ขนาน มาฉีดในคนๆเดียวกันระหว่างเข็มที่ 1 กับเข็มที่ 2
อาทิเช่น เข็มที่ 1 ฉีดวัคซีนขนานแอสตราเซเนกา เมื่อถึงเวลาฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แทนที่จะฉีดวัคซีนขนานแอสตราเซเนกา ตามกำหนดว่าจะต้องฉีดจำนวน 2 เข็ม เพื่อให้วัคซีนสามารถป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพของวัคซีนขนานนี้ ก็เปลี่ยนเป็นการฉีดวัคซีนขนานอื่นๆ เช่น วัคซีนขนานของไฟเซอร์ หรือวัคซีนขนานของโมเดอร์นา เป็นต้น สำหรับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2
วัตถุประสงค์หลักๆ ของการฉีดวัคซีนแบบผสมผสานในลักษณะนี้ ก็คือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของวัคซีนให้สามารถป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ออกไปจนเป็นสายพันธุ์ใหม่ต่างๆ อย่าง “สายพันธุ์เดลตา” ซึ่งกำลังเป็นที่วิตกกังวลกันทั่วโลก เพราะไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์นี้แพร่กระจายเชื้อได้อย่างรวดเร็ว และทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการป่วยหนักรุนแรงยิ่งกว่าสายพันธุ์อื่นๆ
ทั้งนี้ นับแต่ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา เริ่มพบการกลายพันธุ์และแพร่ระบาดที่อินเดียเป็นประเทศแรก ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้วเป็นต้นมา ก็ได้แพร่กระจายเชื้อไปแล้วกว่า 90 ประเทศทั่วโลก โดยมีอัตราการแพร่ระบาดที่รวดเร็ว แซงหน้าไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อื่นๆ ถึงขนาดทำให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนก่อนหน้านี้ว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์นี้ อาจจะเป็นสายพันธุ์หลักของการแพร่ระบาดในหลายๆ ประเทศ ในอนาคตอันใกล้ เช่นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และในหลายประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป หรืออียู เป็นต้น
ด้วยประการฉะนี้ ก็ส่งผลให้บรรดาสถาบันการศึกษาต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ เป็นอาทิ ได้ศึกษาทดลอง “การฉีดวัคซีนแบบผสมผสาน” หรือ “ฉีดวัคซีนแบบไขว้” ขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของวัคซีนให้สามารถป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ออกไป จนเป็นสายพันธุ์ใหม่ต่างๆ ได้
นอกจากประเด็นเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันเชื้อไวรัสโควิดแล้ว ก็ยังมีประเด็นเรื่อง “การขาดแคลนวัคซีนขนานเดิม” ที่เคยฉีดให้แก่ประชาชนเข็มแรกไปแล้ว มีจำนวนไม่เพียงพอต่อการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ตามกำหนด จึงจำเป็นต้องใช้วัคซีนขนานอื่นๆ มาฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ในลักณะการฉีดแบบผสมผสาน หรือฉีดไขว้ ให้แก่ประชาชนแทน เช่น กรณีที่เกิดขึ้นในประเทศเกาหลีใต้ ที่ไม่ได้รับวัคซีนขนานแอสตราเซเนกาตามกำหนด จนไม่สามารถฉีดวัคซีนขนานนี้แก่ประชาชนเป็นเข็มที่ 2 ได้ จนทางการต้องสั่งซื้อวัคซีนขนานไฟเซอร์มาฉีดเป็นเข็มที่ 2 ให้แก่ประชาชนแทน
โดยกระแสการฉีดวัคซีนแบบผสมผสาน หรือการฉีดวัคซีนไขว้ ที่กำลังมาแรง ด้วยเหตุผลต่างๆ ข้างต้น ก็ทำให้หลายประเทศได้พิจารณาถึงแนวทางการฉีดวัคซีนดังกล่าว ได้แก่
“บาห์เรน” ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง เปิดเผยว่า ได้เริ่มการฉีดวัคซีนแบบผสมผสาน ด้วยการนำวัคซีนขนานไฟเซอร์ และวัคซีนขนานซิโนฟาร์ม มาฉีดให้แก่ประชาชนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ไม่ว่าเข็มแรกจะฉีดวัคซีนขนานใดมาก็ตาม
“ภูฏาน” ประเทศในแถบเทือกเขาหิมาลัย ภูมิภาคเอเชียใต้ ปรากฏว่า ทางนายกรัฐมนตรี “โลเท เซอร์ริง” ได้แถลงถึงความไว้วางใจให้มีการฉีดวัคซีนแบบฉีดไขว้ เข็มที่ 2 ให้แก่ประชาชนจำนวน 7 แสนคน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสโควิด-19
“แคนาดา” ประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ ที่ “คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านภูมิคุ้นกันแห่งชาติ” ออกคำแนะนำให้ผู้ที่เคยเข้ารับการฉีดวัคซีนขนานแอสตราเซเนกาเป็นเข็มแรก สามารถรฉีดวัคซีนชนิด “เอ็มอาร์เอ็นเอ” เช่น วัคซีนขนานไฟเซอร์ และวัคซีนขนานโมเดอร์นา เป็นต้น เป็นวัคซีนเข็มที่ 2 ได้ หากไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนขนานเดิม คือ แอสตราเซเนกา ได้ ซึ่งในแคนาดายังได้ศึกษาวิจัยถึงการฉีดวัคซีนแบบไขว้ โดยได้ผลออกมาว่า มีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ได้เป็นอย่างดีด้วย
“จีน” ได้ทดลองการฉีดวัคซีนไขว้ในแบบต่างๆ รวมทั้งการฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หรือบูสเตอร์เป็นเข็มที่ 3 ด้วยเช่นกัน โดยได้เริ่มมาตั้งแต่ เม.ย. และ มิ.ย. ที่ผ่านมา เช่น การทดลองฉีดวัคซีนขนานคังซิโน กับวัคซีนขนานอื่นๆ ที่เป็น “เชื้อตาย”
“อินโดนีเซีย” ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรง จนมีแนวโน้มว่าจะเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดเหมือนกับอินเดีย ก็ได้พิจารณาให้บุคลากรทางการแพทย์ ฉีดวัคซีนแบบไขว้กับวัคซีนขนาน อื่นๆ เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ที่เคยรับการฉีดวัคซีนขนานซิโนแวคไปแล้วก่อนหน้า
“อิตาลี” ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว ปรากฏว่า ทางไอฟา (AIFA) หน่วยงานทางการแพทย์ของประเทศ ได้มีคำแนะนำให้ประชาชนที่อายุไม่เกิน 60 ปี ที่เคยรับการฉีดวัคซีนขนานแอสตราเซเนกาเป็นเข็มแรก สามารถรับวัคซีนขนานอื่นๆ เป็นเข็มที่ 2 ได้
“รัสเซีย” ทางการมอสโก ก็ได้พิจารณาถึงแนวทางการทดลองการฉีดวัคซีนแบบผสมผสาน ระหว่างวัคซีนขนานสปุตนิกวี ที่รัสเซียวิจัยพัฒนาขึ้นมาเอง กับวัคซีนขนานต่างๆ ที่วิจัยพัฒนาในประเทศจีน โดยการทดลอมีขึ้นในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ภายหลังจากก่อนหน้านี้ได้เคยทดลองการฉีดวัคซีนไขว้ ระหว่างวัคซีนขนานแอสตราเซเนกากับวัคซีนขนานสปุตนิกวี โดยยังไม่พบผลกระทบข้างเคียงในเชิงลบแต่อย่างใด
“เกาหลีใต้” ได้มีคำแนะนำให้ผู้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาในเข็มแรก สามารถรับวัคซีนขนานไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 ได้ ด้วยเหตุผลเรื่องการจัดส่งวัคซีนจากโครงการโคแวกซ์เป็นไปอย่างล่าช้า
“สเปน” กระทรวงสาธารณสุขแห่งแดนกระทิงดุ ได้แนะนำให้ประชาชนที่อายุต่ำกว่า 60 ปี ที่เคยรับวัคซีนขนานแอสตราเซเนกาเป็นเข็มแรก สามารถรับวัคซีนขนานไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 ได้ โดยมีผลการศึกษาวิจัยว่าจาก “สถาบันสุขภาพการ์โลสที่ 3” มารับรองเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัย
“ไทย” ทางกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผว่า จะฉีดวัคซีนขนานแอสตราเซเนกา เป็นวัคซีนเข็มที่ 2 ให้แก่ผู้ที่เคยรับวัคซีนขนานซิโนแวคเป็นเข็มแรก เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ ในกรณีของไทยหากปฏิบัติจริง ก็จะเป็นครั้งแรกที่ใช้วัคซีนขนานจากจีน ผสมผสานกับวัคซีนขนานจากชาติตะวันตก
อย่างไรก็ตาม ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ให้แพทย์เป็นผู้ตัดสินใจ โดยให้นำคำเตือนขององค์การอนามัยโลกมาพิจารณากันให้ถี่ถ้วน
“สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์” ได้อนุญาตให้ผู้ที่เคยรับวัคซีนขนานซิโนฟาร์มเป็นเข็มแรก สามารถรับวัคซีนขนานไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 ได้ โดยผู้รับวัคซีนสามารถตัดสินใจเองได้
“สหราชอาณาจักร” นอกจากการทดลองโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดแล้ว ก็มีทาง “โนวาแวกซ์” หนึ่งในผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิดในสหรัฐฯ ได้เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการทดลองการฉีดวัคซีนแบบผสมผสานในสหราชอาณาจักร เมื่อ มิ.ย.ที่ผ่านมา
“สหรัฐอเมริกา” ทางสถาบันสุขแห่งชาติ หรือเอ็นไอเอช ได้การทดลองการฉีดวัคซีนแบบผสมผสาน โดยเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยผลปรากฏว่า การทดลองในผู้ใหญ่ได้ผลปลอดภัยดี และเพิ่มภูมิคุ้มกัน
“เวียดนาม” ได้ประกาศเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า จะอนุญาตให้ผู้ที่เคยรับวัคซีนขนานแอสตราเซเนกาในเข็มแรก สามารถรับวัคซีนขนานไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 ได้
ต้องยอรับว่า กระแสการฉีดวัคซีนแบบผสมผสาน หรือฉีดวัคซีนไขว้ กำลังเป็นเทรนด์มาแรงจริงๆ ซึ่งต้องติดตามกันต่อไป ถึงเรื่องประสิทธิภาพที่จะเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ และต้องไม่ลืมเรื่องความปลอดภัยที่ต้องมาเป็นอันดับแรก