เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 19 กรกฎาคม ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา (นม.) นายกิตติเชษฐ์ ตันติธนาทรัพย์ พร้อมพวกซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่มีร้านค้าและที่พักอาศัยละแวกสะพานข้ามทางรถไฟหัวทะเล เขตเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา ได้ยื่นหนังสือกับนายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล รองนายก อบจ.นม.และนายรักชาติ กิริวัฒนศักดิ์ ประธานสภา อบจ.นม. เรื่องขอให้สนับสนุนการรื้อถอนสะพานข้ามทางรถไฟหัวทะเล ซึ่งทาง อบจ.นม. ได้รับเรื่องร้องเรียนซึ่งเป็นความเดือดร้อนของชาวโคราช จากนั้นจะนำเสนอต่อผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อนำไปพิจารณาหาแนวทางการแก้ปัญหาต่อไปและต้องมีความเป็นได้ทางวิศวกรรมด้วย
นายกิตติเชษฐ์ ตัวแทนผู้ได้รับความเดือดร้อน เปิดเผยว่า ผลกระทบหลังก่อสร้างสะพานเมื่อปี พ.ศ.2539 ทำให้กิจการโรงแรมที่พัก อาคารพาณิชย์ สถานีบริการเชื้อเพลิง ร้านอาหาร ฯลฯ ที่ตั้งอยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตร ประสบปัญหาการค้าซบเซา เนื่องจากไม่มียานพาหนะแล่นผ่านหลายรายต้องเซ้งกิจการและหาทำเลการค้าใหม่ และอสังหาริมทรัพย์ราคาตก ที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้รวมตัวเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือเยียวยาหลายครั้งแต่ไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด ประกอบกับวิกฤตโควิด-19 ระบาด ยิ่งทำให้ภาวะเศรษฐกิจทรุดลงมากขึ้นอีก
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2560 ได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ จ.นครราชสีมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติให้ รฟท. ปรับรูปแบบโครงการรถไฟทางคู่ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ให้รื้อถอนสะพานข้ามทางรถไฟโรงแรมสีมาธานีแล้วยกระดับทางรถไฟช่วงผ่านเขต ทน.นครราชสีมา ส่วนสะพานข้ามทางรถไฟหัวทะเล ไม่ได้ปรับรูปแบบด้วย จึงขอให้ อบจ.นครราชสีมา ช่วยผลักดันให้รื้อถอนสะพานหัวทะเลและแก้ไขปัญหาการสัญจร เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือนร้อนของประชาชนให้กิจการสามารถกลับมาฟื้นฟูได้เหมือนเดิม