เดินตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯ สนองพระราโชบายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (2) “...ทุกวันนี้ประเทศไทยยังมีทรัพยากรพร้อมมูล ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคล ซึ่งเราสามารถนำมาใช้เสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์และเสถียรภาพอันถาวรของบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี ข้อสำคัญเราจะต้องรู้จักใช้ทรัพยากรทั้งนั้นอย่างฉลาด คือไม่นำมาทุ่มเทใช้ให้สิ้นเปลืองไปโดยไร้ประโยชน์ หรือได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่าหากแต่ระมัดระวังใช้ด้วยความประหยัดรอบคอบ ประกอบด้วยความคิดพิจารณาตามหลักวิชา เหตุผล และความถูกต้องเหมาะสม โดยมุ่งถึงประโยชน์แท้จริงที่จะเกิดแก่ประเทศชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันยืนยาว...” พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พุทธศักราช 2529 วันศุกร์ที่ 5 ธันวาคม 2529 อิ่มบุญกันแล้วกับการได้ร่วมไปทอดกฐินพระราชทานที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเชิญไปทอดที่วัดบุญวาทย์ ตัวเมืองจังหวัดลำปางเมื่อวันที่ 3 พย. 2560 ที่ผ่านมาได้พลังที่จะลุยงานกันต่อไป พื้นที่เป้าหมายของผมหลังจากประชุมวิชาการ ร่วมบุญทอดกฐินพระราชทานแล้วคือวิทยาลัยการอาชีพเกาะคา ตำบลศาลา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ไปดูผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่กล่าวได้ว่าเป็นนวัตกรรมเกิดจากความรู้พื้นฐานทางวิชาชีพช่างกลโรงเรียน แล้วต่อยอดด้วยวิชาชีพการขายการตลาด ผ่านกระบวนการสังเกต นำมาวิเคราะห์ ทดลอง แล้วพิสูจน์จนได้สิ่งประดิษฐ์ชิ้นใหม่ออกมา ทำให้นักเรียนนักศึกษาที่ทำโครงการได้ประสบการณ์ ตั้งแต่การได้ซึมซับหลักการทำงานร่วมกัน ทำงานกับคนอื่นที่ต้องมองผลประโยชน์ที่เกิดกับสังคมเป็นสำคัญจึงต้องมีทั้งความขยัน ความอดทน ความสามัคคี การรู้จักให้อภัยผ่อนหนักผ่อนเบา รับฟังความเห็นคนอื่น ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกัน ได้ความชำนาญในสายอาชีพที่ทำโครงการจากการใช้ความรู้ในสายวิชาที่เรียน นำไปสู่การใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ มีรายได้ระหว่างเรียน ผลที่เกิดกับตัวนักเรียนนักศึกษาและคณะครูที่ปรึกษากับวิทยาลัยคือได้ทักษะแห่งการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร อันเกิดจากการน้อมศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ในการศึกษาคิดค้นทดลองจนนำไปสู่ความสำเร็จที่เป็นความเอาใจใส่ของสถานศึกษาที่มุ่งเน้นปลูกฝังหล่อหลอมบุคลากรทั้งครูอาจารย์แล้วก็นักเรียนนักศึกษา เกิดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่ใช้ประโยชน์ได้จริงโดยเฉพาะเกษตรกรที่สามารถนำสิ่งประดิษฐ์นี้ไปใช้กับการเกษตรกรรม เป็นเทคโนโลยี่ที่ใช้วัสดุที่มีอยู่ใกล้ตัวที่มีอยู่แทบทุกบ้านคือมอเตอร์ไซค์ ประยุคใช้ได้โดยไม่ยุ่งยากซับซ้อนด้วยอุปกรณ์เสริมที่ส่วนหนึ่งก็มีใช้กันอยู่แล้ว จะหาเพิ่มเติมก็ไม่ยากซึ่งวิทยาลัยการอาชีพเกาะคาผลิตจำหน่ายให้ในราคาไม่แพงอยู่แล้ว ลดค่าใช้จ่ายในทุกรูปแบบที่เรียกว่าอุปกรณ์พ่วงหอยโข่ง สิ่งประดิษฐ์ใหม่ผลงานของนักเรียนนักศึกษาวิทยาลัยการอาชีพเกาะคาที่ผมไปพิสูจน์นี้เรียกว่าEasy PUMP ที่น่าสนใจจากการพูดคุยทั้งแก่นักเรียนนักศึกษาเจ้าของนวัตกรรมนี้ คณะครูที่ปรึกษารวมไปถึงนโยบายของผู้บริหารคือนางธีลาพร คงฉิมผู้อำนวยการและนายสามารถ พุแพงรองผู้อำนวยการบอกตรงกันว่าหลักคิดที่นำไปสู่การได้สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้คือการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรมาเป็นแรงขับเคลื่อน หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯหรือศาสตร์พระราชาที่วิทยาลัยน้อมนำมาเป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอน ผ่านครูอาจารย์ซึมซับแล้วถ่ายทอดสู่การอบรมบ่มนิสัยเยาวชนนักเรียนนักศึกษาในวิทยาลัยทั้งสิ้นประมาณ 1,500 คน “...งานทุกอย่างมีบุคคลซึ่งมีชีวิตจิตใจ มีความนึกคิดเป็นผู้กระทำ ถ้าผู้ทำมีจิตใจไม่พร้อมจะทำงานเช่นไม่ศรัทธาในงาน ไม่สนใจผูกพันกับงาน ผลงานที่ทำก็ย่อมบกพร่อง ไม่คงที่ ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติมีศรัทธา เข้าใจซึ้งถึงประโยชน์ของงาน พร้อมใจและพอใจที่จะขวนขวายปฏิบัติงานโดยเต็มกำลังความสามารถ งานจึงจะดำเนินไปได้โดยราบรื่น และบรรลุผลตามที่มุ่งหมาย...” พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 10 กรกฎาคม 2536 (อ่านต่อ)