เดินตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯ สนองพระราโชบายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (1) "...เทคโนโลยี นั้น โดยหลักการ คือ การทำให้สิ่ง ที่มีอยู่ให้เกิด เป็นสิ่งที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้น เทคโนโลยีที่ดีสมบูรณ์ จึงควรจะ สร้างสิ่งที่จะใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า และมีความสูญเปล่าหรือความ เสียหายที่เกิดขึ้นน้อยที่สุด..." พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ณ อาคารใหม่ สวนอัมพรวันที่ 18 ตุลาคม 2522 ประชาสัมพันธ์สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ชวนร่วมไปทำบุญทอดกฐินพระราชทานในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ณ วัดบุญวาทย์ ในตัวจังหวัดลำปาง ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สอศ.นำไปทอด ณ วัดดังกล่าวรวมถึงได้ร่วมไปสังเกตการณ์การประชุมสัมมนาผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสอศ.ที่ไปร่วมบุญกันครั้งนี้ทั่วทั้งประเทศรวมถึงสถานศึกษาอาชีวะเอกชนด้วยที่ท่านเลขาธิการกอศ.ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์และผู้บริหารถือโอกาสประชุมใหญ่กันซะเลย ในการประชุมสัมมนาผู้บริหารสถานศึกษาครั้งนี้และดูเหมือนน่าจะทุกครั้งที่เลขาธิการกอศ.ให้นโยบาย ได้น้อมนำเอาพระราโชบายของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่10 มาเป็นหลักยึดให้สถานศึกษาสังกัดอาชีวะทั่วประเทศเชิญไปประยุกต์ใช้ในการบริหารการจัดการเรียนการสอนมี 4 ประการหลักคือมีทัศนคติที่ดีและถูกต้อง, มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคงและเข้มแข็ง มีระเบียบวินัย, มีงานทำมีอาชีพและเป็นพลเมืองดี ผ่านพระราชปณิธานที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชหฤทัยสืบสาน รักษา ต่อยอด พัฒนาเดินตามรอยพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อประชาชนคนไทย ข้าราชการทุกกระทรวงทบวงกรม องค์กรต่างๆได้น้อมนำประยุคใช้ในการดำเนินชีวิตที่มีจุดหมายปลายทางคือความสุขสงบร่มเย็น ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการกอศ.กล่าวว่า สอศ. จัดประชุมสัมมนาผู้บริหารสถานศึกษาทั่วประเทศ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2561 หัวข้อ “การขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพและสร้างความเข้มแข็งอาชีวศึกษา” เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจให้ผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสอศ.ทั้งภาครัฐและเอกชน และผู้บริหารจากหน่วยงานส่วนกลาง ได้รับทราบถึงแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพและสร้างความเข้มแข็งอาชีวศึกษา ในปีการศึกษา 2561 โดยยึดพระราโชบายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นสำคัญเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เน้นการใช้นวัตกรรมในภาคการผลิตมากขึ้น (Thailand 4.0) เดินตามนโยบายรัฐบาล “ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวในเวลาต่อมาว่าอาชีวศึกษาเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนสายวิชาชีพทุกเรื่องเพื่อความเข้มแข็งในทุกด้านบนรากฐานอบรมบ่มนิสัยเยาวชนเติบโตมีคุณธรรมจริยธรรมความดีนำสู่การเป็นคนเก่งหรือคือคนดีมีฝีมือตามนโยบายรัฐบาล ที่เน้นย้ำเรื่องการน้อมนำศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อจบไปจากอาชีวะแล้วต้องเข้มแข็งทั้งคุณธรรมจริยธรรม ทั้งความเชี่ยวชาญทางอาชีพที่ได้เรียนได้ฝึกฝนไป โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรพระราชทานไว้ก็คือศาสตร์พระราชานั่นเองไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตทั้งการประกอบอาชีพ ทั้งการอยู่ร่วมกันในสังคม ต้องมองประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ “ทั้งครูอาจารย์ นักเรียนนักศึกษาต้องถูกปลูกฝังหล่อหลอมให้เติบโตเป็นคนเข้มแข็งด้วยสำนึกแห่งความดีงาม คือสำนึกอยู่ในความขยันหมั่นเพียร อดทน รู้จักอดออม ไม่โลภ มีความรักความเมตตาสามัคคีปรองดอง ให้อภัยกัน มีความกตัญญู มีการประสานเครือข่ายอย่างเป็นระบบ ผู้บริหารต้องอยู่ในสถานศึกษาเพื่อดูแลบริหารจัดการให้เป็นไปตามนโยบาย ต้องสร้างสถานศึกษาให้น่าดู น่าอยู่ น่าเรียน อันจะนำมาซึ่งความภาคภูมิใจให้แก่นักเรียนนักศึกษา ผู้ปกครองเพราะถูกหลอมหล่อด้วยสิ่งแวดล้อมที่ดีอันนับเป็นเรื่องสำคัญ ความดีงามอันนี้เป็นหัวใจของการบริหาร แม้ว่าเรากำลังอยู่ห้วงยุคสมัยแห่งดิจิตัลต้องสร้างสถานศึกษาให้ก้าวไปสู่พัฒนาการนั้นเป็นไทยแลนด์4.0 แต่ต้องไม่ลืมรากฐานเดิมของความดีงามแห่งความเป็นไทยไม่ได้ ที่อยู่ในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯด้วยเช่นกัน”เลขาธิการกอศ.กล่าว ดร.สุเทพย้ำว่าสถานศึกษาอาชีวะจะต้องเป็นพื้นที่ผลิตเยาวชนเติบโตเป็นคนดีของครอบครัว ของชุมชน ของสถานประกอบการและเป็นกำลังพัฒนาชาติบ้านเมืองในฐานคนมีความรู้ควบคู่กับเป็นคนดีที่ตลาดแรงงานต้องการ เป็นพื้นที่ที่สร้างภูมิธรรม ภูมิฐาน จนเป็นที่ไว้วางใจของพ่อแม่ผู้ปกครองส่งลูกหลานเข้ามาเรียนด้วยความไว้วางใจให้อบรมบ่มนิสัย เพราะผู้บริหารสถานศึกษาทุกแห่งได้สนองนโยบายสร้างสถานศึกษาเป็นที่พื้นที่ภูมิธรรม “จะเห็นได้ว่าแม้เราต้องก้าวไปสู่การเป็นไทยแลนด์4.0 แต่เราก้าวไปบนรากฐานแห่งภูมิปัญญาแห่งบรรพชนผ่านหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำริ เราไม่ลืมเก่า ในขณะที่สถานศึกษาส่วนหนึ่งไม่น้อยทีเดียวอยู่ในท้องถิ่น ใกล้ชิดกับชุมชน ประชาชนอาชีวศึกษาให้เตรียมหลักสูตรอาชีพระยะสั้นเพื่อสนองความต้องการของประชาชน ของชุมชน ของท้องถิ่น โดยมีวิทยาลัยสังกัดอาชีวะในพื้นที่นั้นๆจะให้บริการ อันเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงตั้งพระราชปณิธานสืบสาน ต่อยอด พัฒนาแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมุ่งสร้างประโยชน์สู่ราษฎรผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมาย คือคนไทยมีงานทำ มีพื้นฐานชีวิตที่ดีเป็นต้นโดยเวลานี้อาชีวะเตรียมหลักสูตรอาชีพระยะสั้นไว้ถึง 3,888 หลักสูตร” ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการกอศ. กล่าวทิ้งท้ายว่าในการพบปะหรือประชุมผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวะทุกครั้งจะเน้นย้ำน้อมนำพระบรมราโชบายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่10 ที่เชิญไว้ข้างต้นให้ดำเนินการสู่การปฏิบัติเพื่อเกิดประสิทธิผลตามเป้าหมายตามพระราชดำริที่พระราชทานไว้ด้วยพระราชหฤทัยห่วงใย (อ่าน)