วันที่ 17 ก.ค.64 นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี มอบหมาย นายประเวศน์ ไทยประยูร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานจัดกิจกรรม “จิตอาสาพัฒนาชุมชน เอามื้อสามัคคี”เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2564 ที่ทรงปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชดำริต่าง ๆ ตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ล้นเกล้าล้นกระหม่อม ที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทพระราชทานโครงการจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้มีส่วนร่วมในการทำประโยชน์แก่สังคม ชุมชน และประเทศชาติ ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน ได้น้อมนำแนวทางจิตอาสาพระราชทานนี้ มาจัดกิจกรรม “จิตอาสาพัฒนาชุมชนเอามื้อสามัคคี” เพื่อเป็นการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ และสร้างจิตสำนึกในการเกื้อกูล แบ่งปัน อันเป็นวัฒนธรรมอันทรงคุณค่ายิ่งของประเทศไทย และเพื่อเป็นการอุทิศถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อีกทั้งเป็นการสืบสานพระราชปณิธานอันแน่วแน่ของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ที่ทรงมีพระราชปรารถนาให้ประเทศชาติมีความสงบเรียบร้อย มีวิถีการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขอย่างยั่งยืนสืบไป โดยได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้น ณ พื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล ของนายสนั่น สุดจำนงค์ เลขที่ 57 หมู่ที่ 5 ตำบลประสงค์ อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
นายกรองศักดิ์ โอยสวัสดิ์ พัฒนาการจังหวัดสุราษฎร์ธานี หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด นายวิโรจน์ เดชเกลี้ยง นายอำเภอท่าชนะหัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอพร้อมด้วยข้าราชการสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฯ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอท่าชนะ จิตอาสาพระราชทาน ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น เครือข่ายครัวเรือนตามโครงการในพื้นที่อำเภอท่าชนะ นักการตลาดรุ่นใหม่ (OTOP) New Gen นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ประชาชนในพื้นที่ร่วมกิจกรรม จำนวน 50 คน โดยได้มีกิจกรรมการกล่าวน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ล้นเกล้าล้นกระหม่อม ที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทพระราชทานโครงการจิตอาสา “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้มีส่วนร่วมในการทำประโยชน์แก่สังคม ชุมชน และประเทศชาติ ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน ได้น้อมนำแนวทางจิตอาสาพระราชทานนี้ มาจัดกิจกรรม “จิตอาสาพัฒนาชุมชนเอามื้อสามัคคี” เพื่อเป็นการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ และสร้างจิตสำนึกในการเกื้อกูล แบ่งปัน อันเป็นวัฒนธรรมอันทรงคุณค่ายิ่งของประเทศไทย กิจกรรมวันนี้ได้จัดกิจกรรมมอบต้นกล้าพืชผัก การเอามื้อห่มดิน ปลูกต้นไม้ต่างๆ อีกทั้งได้ดำเนินการปลูกพืชสมุนไพรที่สามารถต่อต้านเชื้อโรคไวรัส โคโรนา 2019 (โควิด 19) ไว้เป็นทางเลือกทางรอด ได้แก่ กระชายจำนวน 100 กอ ฟ้าทะลายโจรจำนวน 50 กอ และสมุนไพรอื่น ๆ เช่น ตะไคร้ ข่า ขมิ้น พริกจำนวน 50 ต้น มะเขือจำนวน 150 ต้น ผักกูด จำนวน 1700 ต้นเป็นต้น รวมทั้งปล่อยปลานิลจำนวน 300 ตัว กบนาจำนวน 300 ตัว เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับครอบครัว ขยายพันธุ์และแจกจ่ายให้กับประชาชนท่สนใจ และพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่แระยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.ในที่สุด
จังหวัดสุราษฎร์ธานีโดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฯ ส่งเสริมการเรียนรู้และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และหลักทฤษฎีใหม่ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา- ภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มาเป็นหลักในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยการพัฒนาคนให้พึ่งตนเอง มีความเป็นเจ้าของ และบริหารจัดการโดยชุมชน พัฒนาหมู่บ้านหรือชุมชน ให้มีวิถีชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนให้มีความมั่นคง เป็นสังคม “อยู่เย็น เป็นสุข”ด้วยการดำเนินงานในรูปแบบ โคก หนอง นา โดยมีโครงการที่สำคัญได้แก่
1 โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” กรมการพัฒนาชุมชน (งบเงินกู้) ในพื้นที่เป้าหมาย ในพื้นที่ 11 อำเภอ 40 ตำบล จำนวน 115 แปลง แยกเป็น
- พื้นที่ 1 ไร่ จำนวน 36 แปลง
- พื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 79 แปลง
2 โครงการ โคก หนอง นา พช.สุราษฎร์ธานี งบยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชนภายใต้โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวนรวม 191 แห่ง
- ขนาด 3 ไร่ 31 แห่ง
- ขนาด 1 ไร่ 161 แห่ง
รวมทั้งสองโครงการจำนวน 306 แปลง มีกิจกรรมย่อยที่ไกล้เคียงกัน โดยที่โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.”จะมีการดำเนินการหลัก 7 กิจกรรม ดังนี้
กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล เพื่อสร้างความรู้ความใจอย่างแท้จริงในการดำเนินการตามโครงการ
กิจกรรมที่ 2 สร้างพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับครัวเรือน (HLM) ด้วยการออกแบบแปลงรูปแบบรายการให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพมากที่สุด
กิจกรรมที่ 3 สร้างงาน สร้างรายได้รายเดือนให้แก่เกษตรกร บัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน ผ่านการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร แรงงานและบัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
กิจกรรมที่ 4 กระตุ้นการบริโภครายครัวเรือนและเอกชน ผ่านกิจกรรมการพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับครัวเรือน (HLM)
กิจกรรมที่ 5 บูรณาการพัฒนาพื้นที่ระดับตำบล
กิจกรรมที่ 6 พัฒนาการสร้างมาตรฐานผลผลิต การแปรรูปและการตลาดตามมาตรฐานอินทรีย์วิถีไทย
กิจกรรมที่ 7 พัฒนาระบบ Digital รองรับ Local Economy ด้วยการสร้างระบบโปรแกรม และฐานข้อมูล สำหรับกิจกรรมนี้ มอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) : GISTDA. ดำเนินการ ซึ่งจะเป็นการแสดงให้เห็นว่าการดำเนินงานตามโครงการมีผลดี ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่พี่น้องประชาชนที่เข้าร่วมโครงการทั้งก่อนและหลังดำเนินการ สามารถใช้ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณได้ด้วยภาพถ่ายดาวเทียม
โครงการ งบยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชน ภายใต้โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีกิจกรรมที่สำคัญได้แก่
กิจกรรมที่ 1. ฝึกอบรมผู้แทนครัวเรือนเป้าหมาย “โคก หนอง นา”เพื่อให้เกิดผู้นำพัฒนาที่อยู่ในชุมชนและขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้านให้เป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบร่วมกันของชุมชน
กิจกรรมที่ 2. สัมมนาเรียนรู้วิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีครัวเรือนพัฒนาในหมู่บ้านเข้าร่วมอย่างน้อย 30 ครัวเรือน และมีครัวเรือนโคกหนองนาเป็นผู้นำทำกิจกรรม
กิจกรรมที่ 3. การจัดทำแผนพัฒนาวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีผู้แทนครัวเรือนพัฒนา แกนนำ ผู้แทนกลุ่ม/องค์กร อย่างน้อย 30 คน เข้าร่วม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเองและชุมชน
กิจกรรมที่ 4. การขับเคลื่อนกิจกรรมพัฒนาวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงระดับหมู่บ้าน โดยวางแผนและกำหนดดำเนินกิจกรรมการพัฒนาหมู่บ้านจากการจัดทำแผนชีวิตและแผนชุมชน
กิจกรรมที่ 5. การพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา”การปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ การสร้างเครือข่าย สร้างการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมเอามื้อสามัคคี และสร้างเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ “โคก หนอง นา พช.”สำหรับบริการประชาชนที่สนใจ
กิจกรรมที่ 6. การถอดบทเรียนและประเมินผลการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อค้นหาแนวทางวิธีพัฒนา ต่อยอดการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงที่มีประสิทธิภาพ
นายกรองศักดิ์ โอยสวัสดิ์ พัฒนาการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้ข้อมูลความคืบหน้าการดำเนินงานตามโครงการ โคก หนอง นา พช.ในภาพรวมทั้งสองโครงการ ซึ่งมีจำนวนพื้นที่เป้าหมายรวม 306 แปลง ปัจจุบัน มีผลความคืบหน้าผูกพันสัญญาจ้างและเบิกเงินแล้ว จำนวน 228 แปลงคิดเป็นร้อยละ 74.51 นอกจากนี้ยังมีผลการจัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคีซึ่งดำเนินการแล้ว จำนวน 30 แปลง และมีการพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้แล้ว จำนวน 10 แปลง และยังมีครัวเรือนสมัครใจเข้าร่วมโครงการในลักษณะจัดทำศูนย์เรียนรู้โดยไม่ใช้งบประมาณราชการอีก จำนวน 16 แปลง
ประโยชน์ของโครงการเมื่อดำเนินการโครงการเสร็จ จะก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงต่อครัวเรือนตามโครงการ จำนวน 306 ครัวเรือน และเกิดประโยชน์โดยอ้อมต่อครัวเรือนทั่วไปจำนวนมาก กล่าวคือ
1 ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบฯใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดมีความมั่นคงทางอาหารให้กับครัวเรือน/ชุมชน โดยเฉพาะเรื่องการปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อลดรายจ่ายเท่ากับเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน สามารถเป็นแหล่งอาหารหลักที่ปลอดภัยเลี้ยงดูคนในชุมชน อีกทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หลักทฤษฎีใหม่ไปประยุต์ใช้เป็นวิถีชีวิต
2 เป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าปลูกใหม่ตามแนวพระราชดำริป่า 3 อย่าง เพื่อประโยชน์ 4 อย่าง สร้างสมดุลของระบบนิเวศ ดิน น้ำ อากาศ สิ่งมีชีวิต มีความสมบูรณ์เกื้อกูลกัน รวมทั้งผลผลิตยังสามารถสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนได้อีกด้วย
3 มีแหล่งน้ำไว้เพื่อการป้องกันภัยแล้งและเป็นที่กักเก็บน้ำบนผิวดินป้องกันน้ำท่วม
4 รวมถึงยังช่วยเพิ่มการจ้างงานด้วยการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร แรงงานและบัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ด้วยการเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับตำบล และระดับครัวเรือน จ้างงานคนละ 9,000 บาท/เดือน เป็นระยะเวลา 12 เดือน เพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) อันเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากมั่นคง และชุมชนพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป
นายกรองศักดิ์ โอยสวัสดิ์ ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “กิจกรรม KICK OFF “จิตอาสาพัฒนาชุมชนเอามื้อสามัคคี”เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว การเอามื้อสามัคคีวันนี้ยังเป็นการสร้างการเรียนรู้ร่วมกับของผู้เข้าร่วมกิจกรรม เกิดการแบ่งปัน ช่วยเหลือกัน เข้าใจกันอันจะนำมาซึ่งความผูกพัน ความรักสามัคคีกัน เป็นสังคมที่มีความอบอุ่นเข้มแข็งน่าอยู่อาศัย ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด 19) ได้รณรงค์ให้ทุกแปลงโคก หนอง นา พช.ดำเนินการปลูกพืชสมุนไพรที่สามารถต่อต้านเชื้อโรคไวรัส โคโรนา 2019 (โควิด 19) ไว้เป็นทางเลือกทางรอด ซึ่งได้แก่ ฟ้าทะลายโจร กระชาย ขิง ข่า ขมิ้น ตะไคร้ และสมุนไพรอื่นๆเพื่อใช้ในครอบครัว เพื่อการขยายพันธุ์และแจกจ่ายให้กับชุมชนต่อไป”