วันที่ 16 ก.ค.64 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุค ระบุว่า จากกรมหม่อนไหมถึงการปฏิรูปรัฐราชการ: งบประมาณมาจากภาษีประชาชน ต้องนำไปรับใช้ประชาชน เป็นโอกาสดีที่การพูดถึงกรมหม่อนไหมของผมได้รับความสนใจทั้งจากผู้เห็นด้วยและผู้ไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก ก่อนอื่นผมจำเป็นต้องยืนยันว่า อาชีพทุกอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นผู้เลี้ยงไหม, ครู, เกษตรกรมังคุด, ข้าราชการกรมหม่อนไหม หรือพนักงานทำความสะอาด ล้วนแต่เป็นอาชีพที่มีเกียรติ สิ่งที่ผมนำเสนอ ไม่มีข้อความใดดูหมิ่นเกียรติยศของอาชีพหรือวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับผ้าไหมเลย กลับกัน ผมยังชื่นชมผ้าไหม เห็นศักยภาพและสนับสนุนผลิตภัณฑ์ไหม เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเดินทางไปอีสาน ยังซื้อผ้าไหมนาคำไฮหลายชิ้นกลับมาฝากคนที่บ้านดังที่เห็นจากรูป เมื่อตัดเรื่องใส่ความ บิดเบือนคำพูดเพื่อสร้างให้ประชาชนเกลียดชังผมออกไป เนื้อหาหลักคือ ระบบราชการไทย รวมศูนย์อำนาจ ใหญ่โต เทอะทะ ขาดประสิทธิภาพ ไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน และรับใช้อำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชนเสมอ ในภาวะที่ประเทศไทยหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมหาศาล และกำลังจะเกินวินัยการคลังที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย เราจำเป็นต้องปฏิรูประบบราชการ ลดหน่วยงานที่ไม่จำเป็น ลดโครงการที่ไม่จำเป็น เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดอำนาจและงบประมาณราชการส่วนกลาง คืนอำนาจสู่ท้องถิ่น นี่คือข้อเสนอที่สำคัญทางการเมืองเพื่อสถานภาพทางการคลังของรัฐ, เพื่อประชาธิปไตยที่ยั่งยืน และเพื่อให้ท้องถิ่นมีโอกาสเจริญเติบโต ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท ไม่ใช่สร้างรัฐราชการส่วนกลางให้เติบโตไปเรื่อยๆ การปฏิรูประบบราชการคือความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การสร้างดราม่าด้วยเกียรติยศของอาชีพ, การเสียสละของข้าราชการ และประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น ไม่สามารถบิดเบือนหรือซ่อนเร้นความจำเป็นนี้ได้ เราสามารถสนับสนุนผ้าไหมได้โดยไม่ต้องมีกรม เหมือนเช่นที่ กรมปศุสัตว์ หรือ กรมประมง สนับสนุนหลายสาขาอาชีพได้ ไม่อย่างนั้นต่อไปเราอาจมี “กรมไก่ชน” “กรมสุราพื้นบ้าน” “กรมกัญชา” หรือ “กรมทุเรียน” ถ้าปัญหาทุกด้านต้องมีหน่วยงานระดับกรมขึ้นมาดูแล เราก็จะมีกรมเยอะแยะมากมายเต็มไปหมด ภาระงบประมาณก็จะมากมายมหาศาล ตลาดวัวในประเทศไทย ใหญ่ถึง 4.1 หมื่นล้านบาท ตลาดนมวัว 1.8 หมื่นล้านบาท ตลาดเนยจากวัวอีก 3.7 พันล้านบาท รวมมูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์วัวเท่ากับ 6 หมื่นล้านบาท สินค้าจากวัวยังสร้างมูลค่าการส่งออกอีกปีละ 500 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาทในปี 2020 ขณะที่ผ้าไหมมีตลาดในประเทศปีละ 3 พันล้านบาท และสร้างมูลค่าการส่งออก 6 ล้านดอลลาร์ในปี 2020 ไม่รวมเสื้อผ้าไหมสำเร็จรูป แต่เรากลับไม่มี “กรมวัว” ที่กล่าวมา ผมไม่ได้หมายถึงว่าประเทศไทยต้องมี “กรมวัว” เพราะเรามีกรมปศุสัตว์ที่ดูแลกิจการเกี่ยวกับปศุสัตว์ทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องมีกรมวัวแยกต่างหาก อ้างอิงจากสไลด์ของคุณ Sirikanya Tansakun - ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่ใช้ในการอภิปรายในสภา 16 ปีจาก 2547 ถึง 2563 ราชการไทยใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ รายจ่ายประจำจาก 66% (0.8/1.2) ของงบประมาณ กลายเป็นถึง 75% (2.4/3.2) ของงบประมาณ ทำให้ศักยภาพการลงทุนเพื่ออนาคตของเราน้อยลง ประเด็นสุดท้าย ผมยืนยันว่าตามหลักประชาธิปไตย เมื่องบประมาณมาจากภาษีของประชาชน ผู้ที่ประชาชนเลือกมาเท่านั้นที่ทรงอำนาจในการจัดสรรงบประมาณ และงบประมาณนั้น ต้องถูกนำไปใช้เพื่อทำนุบำรุงความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชน ไม่ใช่นำไปส่งเสริมอำนาจบารมีให้กับผู้หนึ่งผู้ใด"